Home data &Analytics แนวโน้มส่งออกรถไทยปี2015

แนวโน้มส่งออกรถไทยปี2015

สัมภาษณ์พิเศษ  “นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ” ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อดีตประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียน ถึงแนวโน้มและทิศทางการส่งออก รถยนต์จากประเทศไทยในปี2015

จากข้อมูลสถิติด้านการส่งออกพบว่าประเทศไทย มีความสามารถในการผลิตและส่งออกรถยนต์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2015 ประเทศไทยตั้งเป้าการส่งออกที่ 1.2 ล้านคัน ในไตรมาสแรกของปี 2015 มียอดรวมการส่งออกที่ 328,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 13%

แนวโน้มการส่งออกรถยนต์ของประเทศไทยคาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เพียงใจ แก้วสุวรรณ
เพียงใจ แก้วสุวรรณ

โดยเชื่อว่ายังมีการเติบโต 3-4% ต่อปีเป็นอย่างต่ำ ไทยยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ทั้งในด้านคุณภาพและต้นทุนที่แข่งขันได้ ประเภทของรถยนต์หลักยังคงเป็น Pick-up และ Eco-car ตามนโยบายที่ภาครัฐให้การสนับสนุนให้เป็น Product Champion นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาการส่งออกมากยิ่งขึ้นในอนาคต จากการส่งเสริมการลงทุนผลิต Eco-Car Phase II เพราะกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเกือบ 1.3 ล้านคันจาก 9 ค่ายรถยนต์ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แล้ว ทั้งนี้ ยังไม่รวมบริษัท โฟล์คสวาเกน เอจี ที่อยู่ระหว่างการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตรถยนต์นั่งสูงสุด 300,000 คัน/ปี

อย่างไรก็ตาม หากมีการผลักดันให้เกิด Product Champion ตัวต่อไปคาดว่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการส่งออกในระยะยาวจากการขยายประเภทรถยนต์ให้หลากหลายขึ้น โดยแนวโน้มคือรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ Hybrid  ตลาดส่งออกหลักยังคงเป็นเอเชียและโอเชียนเนีย ทั้งนี้ นับตั้งแต่ประเทศออสเตรเลียมีนโยบายยกเลิกการผลิตรถยนต์และหันไปใช้วิธีการนำเข้าทดแทน ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทยและทำให้ปริมาณการส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยไปยังออสเตรเลียเพิ่มมากขึ้น ความท้าทายต่อไปของประเทศไทยคือการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์รุ่นใหม่ให้ทันกับเทคโนโลยีของโลก ด้วยคุณภาพและต้นทุนที่แข่งขันได้ เพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ชั้นนำของอาเซียนและของโลกต่อไป

hotnews-0-19-08-2010

Q:มีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นเรื่องท้าทาย สำหรับการขยายการส่งออกรถยนต์จากประเทศไทย

A: ภายใต้หลักการตลาด ความสามารถในการแข่งขันสร้างขึ้นจากสองปัจจัยหลัก ได้แก่ การสร้างความแตกต่าง (Differentiation) และ การมีต้นทุนต่ำ (Cost Leadership) เมื่อพิจารณาบริบทของประเทศไทยกับอุตสาหกรรมรถยนต์พบว่า ความสามารถในการแข่งขันของไทยควรมุ่งที่การสร้างความแตกต่าง นั่นหมายถึง การสร้างรถยนต์ที่มีการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ตามแนวโน้มเทคโนโลยียานยนต์โลก อันเป็นรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีสูง คุณภาพตามมาตรฐานโลก ภายใต้ต้นทุนที่สามารถยอมรับได้ โดยหัวใจสำคัญที่จะทำให้ไทยสร้างรถยนต์ที่มีคุณภาพสูงและคุณสมบัติครบถ้วนได้ คือ R&D

คาดการณ์การส่งออกปี2105  (หน่วย : ล้านคัน)
คาดการณ์การส่งออกปี2105 (หน่วย : ล้านคัน)

การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ (R&D) คือ เป้าหมายสำคัญเพื่อการรักษาและขยายตลาดของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของประเทศไทยคือการสนับสนุนให้เกิด R&D ทั้ง Supply Chain หมายรวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการคิดค้นและพัฒนาตั้งแต่กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนและจนถึงรถยนต์ทั้งคัน โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นคนไทย ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างชาติ ยังไม่น่ากังวลมากนักเนื่องจากส่วนหนึ่งจะได้รับเทคโนโลยีจากบริษัทแม่ แต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยควรได้รับการกระตุ้นและการสนับสนุนให้มีความสามรถในกระบวนการคิดและพัฒนาชิ้นส่วนโดยตัวเองได้ นอกจากนี้ ประเทศไทยควรมุ่งเน้นการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถป้อนสู่อุตสาหกรรม เน้นความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ โดยแม้ปัจจุบันจะมีหลายโครงการที่เริ่มดำเนินการแล้ว แต่หัวใจด้านบุคลากรก็ยังเป็นหัวใจสำคัญพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป

1423731984

Q:เศรษฐกิจโลก ปัจจุบันมีอิทธิพลอย่างไรต่อ ความต้องการรถจากประเทศไทย

A: แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ย่อมส่งผลต่อยอดการส่งออกรถจากประเทศไทยอย่างแน่นอน แต่เนื่องจากรถยนต์ที่ผลิตจากประเทศไทย เป็นรถยนต์ที่มีคุณภาพ และมาตรฐานสูง ทำให้ไทยมีโอกาสเน้นตลาดส่งออกได้หลายตลาด ทั้ง เอเชีย โอเชียนเนีย ตะวันออกกลาง อเมริกา ยุโรป และอัฟริกา และเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนการถือครองรถยนต์เทียบกับจำนวนประชากรพบว่า ในหลายประเทศที่ไทยส่งออกรถยนต์ไป สัดส่วนการถือครองรถยนต์ยังอยู่ในระดับต่ำโดยยังไม่ถึง 20% เทียบกับบางตลาดที่มีสัดส่วนการถือครองถึงกว่า 70% นั่นหมายถึงโอกาสของสินค้ารถยนต์ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก

จำนวนส่งออกรถยนต์ไทยปี2015

Q:มีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง ต่อภาครัฐที่จะยกระดับการส่งออกรถยนต์ของไทย

A: – การสร้างกลไกให้เกิดการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

– มุ่งเน้นการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาของอุตสาหกรรมในระยะยาว

– ผลักดันให้เกิดการสร้างมาตรฐานร่วมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN MRA) เพื่อลดภาระด้านการส่งออกและขยายโอกาสทางการส่งออกที่มากขึ้นภายในอาเซียน

– ผลักดันการสร้างศูนย์ทดสอบที่เป็นเครื่องมือสำคัญ (value chain) ตัวสุดท้ายให้เกิดความสมบูรณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

Previous articleมาร์ค คอฟแมน:Ford Asian
Next articleเมษายน 2558 ส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17