จากความต้องการที่จะให้การควบคุมรถเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ มีความปลอดภัยในทุกสภาวการณ์ ยานพาหนะหรือรถยนต์เคลื่อนที่ได้ตามแนวขนานของพื้นโลก ก็หมายถึงแรงขับเคลื่อนนั้น จะต้องถูกต่อต้านจากแรงโน้มถ่วง สภาพถนน สภาพภูมิอากาศ เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การขับเคลื่อนของรถยนต์ มีความปลอดภัยน้อยลง แต่มนุษย์ก็พยายามที่จะเอาชนะมัน จากหลักเกณฑ์ความปลอดภัยสูงสุดของรถยนต์ก็คือ ล้อต้องหมุน หรือหยุดด้วยความเร็วที่เท่ากัน ไม่ว่าสภาพถนน สภาพภูมิประเทศ และลักษณะนิสัยของการขับขี่จะเป็นเช่นไร
รถยนต์มีปัญหาเรื่องเบรกแล้วล้อล็อกตาย ทำให้ความสามารถในการควบคุมเพื่อที่จะหลบหลีก และหลีกเลี่ยงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ระบบ ABS จึงถูกนำมาใช้เพื่อลดปัญหานั้น ในสภาพถนนที่เปียกลื่น จะด้วยน้ำ น้ำฝน หิมะ โคลน เมื่อจะออกรถ ทำให้ล้อขับ (ไม่ว่าจะเป็นขับหน้า หรือขับหลัง) เกิดอาการลื่นไถลจากการหมุนด้วยความเร็วของล้อที่ไม่เท่ากัน ทำให้การทรงตัว (ทิศทาง) ของรถเสียไป
การพัฒนาให้มีระบบ ลิมิเต็ดสลิป หรือ ดิฟเฟอร์เร็นเชียลล็อก จึงเกิดขึ้น จะได้ผลใช้งานในระดับหนึ่งจากจุดอ่อนของลิมิเต็ดสลิป หรือ Automatic differential lock ที่ระบบจะทำงานได้ก็ต้องใช้กำลังงานของเครื่องยนต์ ซึ่งทำให้เกิดการสิ้นเปลือง และสามารถที่จะทำงาน หรือควบคุมได้กับเฉพาะล้อขับเท่านั้น จากจุดอ่อนข้อนั้น ความสิ้นเปลือง และประโยชน์ใช้สอยได้เพียงล้อขับสองล้อเท่านั้น จากพื้นฐานของระบบ ABS จึงได้อัพเกรดให้เกิดระบบ ETS เพื่อลดจุดอ่อนของลิมิเต็ดสลิป หรือดิฟเฟอร์เร็นเชียลล็อก
โดยให้ระบบเบรกทำการแทน ระบบเครื่องยนต์ เพื่อลดการสิ้นเปลือง และระบบ ETS สามารถกระทำได้พร้อมกันทั้งสี่ล้อ แต่ข้อจำกัดของระบบ ETS ก็ยังคงมีอยู่เช่น ETS ให้ประโยชน์คุ้มค่าบนถนนลื่นๆ และเปียกแฉะเท่านั้น รวมทั้ง ETS จะทำงานในขณะที่รถใช้งานด้วยความเร็วต่ำ ถึงปานกลาง นอกจากนั้น ประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นกับถนนที่เป็นเพียงเส้นตรงเท่านั้น
จากจุดอ่อนอันนั้น ระบบพื้นฐานดั้งเดิมของ ABS จึงต้องพัฒนาให้ลบข้อด้อยอันนั้น จึงได้อัพเกรดระบบ ABS ให้สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง จนเกิดระบบช่วยเบรก BAS และระบบ ESP (Electronic Stability Program) ถ้าจะกล่าวกันง่ายๆ หลีกหนีภาษาที่เป็นตำรับตำราก็คือ ระบบ ESP จะช่วยให้ควบคุมรถได้ทุกสภาพของถนน ด้วยความเร็วที่ไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นถนนเปียก ถนนลื่น ถนนแห้ง ทางตรง ทางโค้ง โค้งมาก โค้งน้อย ระบบ ESP จะช่วยให้การควบคุมรถเป็นไปอย่างมั่นคงมากขึ้น
ฝนตก ถนนลื่น ESP จะช่วยให้ล้อทั้งสี่หมุนด้วยความเร็วที่เท่ากัน และเมื่อสุดวิสัยที่ล้อจะหมุนช้าลง เพราะแรงดันน้ำมันเบรก ESP ก็จะสั่งงานให้เครื่องยนต์ลดรอบเครื่องลง (แม้เท้าเราจะยังกดคันเร่งอยู่) ซึ่งทั้งแรงม้า หรือแรงบิดจะลดลงอย่างรวดเร็ว แน่นอนล้อรถจะหมุนช้าลงด้วย ไม่ว่าก่อนที่ ESP จะสั่งงานนั้น รถจะวิ่งด้วยความเร็วเท่าใด จนเมื่อทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ การทำงานของ ESP ก็จะถูกยกเลิก หรือในขณะเข้าโค้ง ออกโค้ง อาการที่เกิดขึ้นก็คือ มุดโค้ง หรือ แหกโค้ง ESP ก็จะสั่งงานไปยังเครื่อง และเบรกให้ทำงานเพื่อต่อต้าน อาการที่เกิดขึ้นนั้น
ไม่ว่าจะเป็น ABS (Anti lock braking system) BAS (Brake assist) ETS (Electronic Traction Support) ESP (Electronic stability program) หรืออุปกรณ์ช่วยอย่างอื่นๆ อีกก็ตาม จะทำงานด้วยพื้นฐานสามอย่าง คือ ระบบไฟฟ้า ระบบไฮดรอลิก และความเชี่ยวชาญ หรือความชำนาญในการขับขี่ ทั้งสามอย่างจะต้องสอดคล้อง และเป็นหนึ่งเดียวกัน รถยนต์ทุกวันนี้ ถ้ามองกันอย่างผิวเผินแล้ว ดูจะขับง่ายกว่ารถรุ่นก่อนๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว รถยนต์ในปัจจุบัน เพียงแค่คำว่าขับเป็นนั้น ไม่น่าจะเพียงพอ มากกว่าขับเป็นคือ ต้องขับได้
การเรียนรู้ศึกษา แม้จะดูว่าเป็นเรื่องยาก เรื่องไกลตัว เพราะเป็นเรื่องของเครื่องยนต์กลไก แต่ผมก็ยังยืนยันว่า จำเป็นที่ผู้ใช้รถจะต้องศึกษาเรียนรู้ ไม่เว้นแม้แต่รถกระบะ ซึ่งก่อนนี้เคยถูกมองว่าเป็นรถอีกระดับหนึ่ง
รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์วางขวาง ขับเคลื่อนล้อวิธีการขับแม้จะแตกต่างจากรถยนต์ที่ขับเคลื่อนล้อหลัง แม้ความแตกต่างนั้นจะน้อย แต่ก็ยังมีความแตกต่าง คนขับรถที่เคยขับแต่รถเกียร์ธรรมดา เมื่อมาขับแบบเกียร์ออโตเมติก แม้จะสะดวกสบายมากขึ้น ก็ยังจำเป็นต้องเรียนรู้ครับ ต้องเรียนรู้ว่าเมื่อไร ควรจะใช้ หรือกดปุ่ม โอเดอร์ไดร์ฟปิด-เปิด ต้องเรียนรู้ว่าในเกียร์ออโตบางประเภท บางยี่ห้อ มีโปรแกรมให้เลือกขับได้สองแบบ คือ แบบ S (Standard ซึ่งหลายคนเข้าใจว่า S เป็นแบบ Sport) กับ P (Power) หรือแบบ E (Economy) กับ W (Winter)
นั่นเป็นตัวอย่างแรกที่จะต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อไรในสถานการณ์แบบใด ควรจะใช้โปรแกรมใด จึงจะได้สมรรถนะในการขับแบบเต็มร้อย เช่นกันกับรถยนต์ที่ติดตั้งระบบเบรกแบบ ABS ก็จะต้องทำความเข้าใจ และฝึกหัดจนใช้งานในระบบ ABS อย่างคุ้มค่า หรือแม้แต่การมีออปชั่นเพิ่มเติม เช่น BAS, ETS, ESP นั่น ก็จะต้องเข้าใจว่า แต่ละระบบนั้น จะใช้อย่างไร เมื่อไร และเมื่อใช้แล้ว ประโยชน์ที่ได้รับนั้น คุ้มค่ากับสิ่งที่เราจ่ายไปหรือไม่