ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์มีการพัฒนาขึ้นจากอดีตอย่างมากพร้อมๆ กับการเพิ่มเติมสิ่งใหม่เข้าไปในตัวรถ ระบบต่างๆ
มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความสะดวกสบาย และอุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัย สิ่งที่เพิ่มเข้ามา ย่อมหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าเราในฐานะผู้ใช้ควรทำความเข้าใจระบบเหล่านี้อย่างถ่องแท้
ABS
ย่อมาจาก Anti Lock Brake System หรือระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรก มีประโยชน์คือเมื่อผู้ขับเหยียบแป้นเบรกอย่างแรง ล้อจะไม่ล็อกตาย ซึ่งล้อล็อกเป็นต้นเหตุของการไม่สามารถเลี้ยวได้ โดยระบบนี้ทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการเบรกในลักษณะจับ-ปล่อย ที่เร็วมาก ทำให้สามารถเลี้ยวหักหลบรถสิ่งกีดขวางได้ในขณะเบรก
BA
นอกจากระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรก มีอีกหลายๆ ระบบที่เกี่ยวข้องกับระบบเบรก BA ก็เป็นหนึ่งในนั้น จากคำเต็มที่ว่า Brake Assist หรือระบบช่วยเบรก จะทำงานด้วยการเพิ่มน้ำหนักการเบรกเมื่อฉุกเฉิน เช่น รถเข้าใกล้สิ่งที่ขวางกั้นมากเกินไป โดยผู้ขับขี่เหยียบแป้นเบรกในน้ำหนักที่ไม่เพียงพอ ระบบนี้จึงเข้ามาช่วยเหลือBA จึงกลายเป็นสิ่งที่น่าจะมีประโยชน์กับ ABS เนื่องจากมีผู้ใช้รถที่ติดตั้ง ABS จำนวนมากที่ใช้เบรกไม่ถูกวิธี เช่น ไม่กล้าที่จะกดน้ำหนักเท้าอย่างมาก ด้วยความไม่รู้หลักการทำงาน หรือตกใจ เมื่อเกิดแรงต้านที่แป้นเบรก หรือกลัวรถจะลื่นไถล แต่เมื่อมี BA เข้ามา ก็จะเป็นตัวช่วยที่ดีสิ่งหนึ่ง
EBD
ยังมีอีกระบบหนึ่งทีเกี่ยวข้องกับเบรก นั่นก็คือ Electronic Brake Distribution ซึ่งแปลความได้ตรงตัวว่า ระบบกระจายแรงเบรกด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบนี้จะกระจายแรงเบรกไปยังล้อต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับแรงต้านทานระหว่างล้อกับผิวถนน เพื่อให้การเบรกมีประสิทธิภาพในการหยุดที่ดี และไม่เกิดอาการปัด หรือลื่นไถลเสียหลักได้
STC
หรือ Stability and Traction Control เป็นระบบการควบคุมล้อขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ คอมพิวเตอร์จะตรวจสอบการทำงานของล้อแต่ละล้อ เมื่อตรวจพบว่าล้อหนึ่งล้อใดหมุนฟรี ก็จะสั่งให้แรงบิดที่ล้อนั้นลดลงโดยทันที เพื่อให้ล้อกลับมายึดเกาะถนนอีกครั้ง แทนที่จะปล่อยให้หมุนฟรี ซึ่งจะเป็นต้นเหตุของการที่รถเสียหลักและลื่นไถลได้ ระบบนี้จะมีประโยชน์ในกรณีที่ขับขี่รถช่วงฝนตก ถนนลื่น หรือทางที่เป็นฝุ่นทรายนอกจากนั้น STC ยังช่วยในการออกตัวรถที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในสภาพถนนที่ลื่น เพราะจะช่วยให้ล้อไม่เกิดการหมุนฟรี ทั้งนี้ ระบบนี้ส่วนใหญ่จะช่วยให้รถสามารถเดินทางไปได้ แม้ว่าจะมีล้อที่มีแรงเสียดทานกับถนนเพียงแค่ล้อเดียวก็ตามการทำงานในรูปแบบของระบบ STC นี้ หลายๆ ค่ายรถยนต์ กำหนดชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เพื่อเป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว องค์ประกอบของระบบจะอาจจะมีระบบอื่นๆ ถูกดึงมาทำหน้าที่ร่วมด้วยหลายระบบ แต่หากใครพบเห็นตัวย่อดังกล่าว ก็เข้าใจได้ทันทีว่า เป็นระบบที่ทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพรถ เช่นเดียวกัน เช่น
DSC
ย่อมาจาก Dynamic Stability Control เป็นคำที่จากัวร์ นำมาใช้คนแรก
ETS
จากคำเต็ม คือ Electronic Traction Support เป็นคำที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ นำมาใช้ และยังมีคำว่า ESP: Electronic Stability Program
VSC
หรือ Vehicle Stability Control ระบบควบคุมการทรงตัว คำนี้พบได้ในโตโยต้า
EDL
(Electronic Difference Lock) และ ASR (Anti-Slip Regulation) เป็นของค่ายออดี้ส่วนยี่ห้ออื่นๆ ที่พบเห็นได้ก็เช่น TRC ที่ย่อมาจาก Traction Control System ในบีเอ็มดับเบิลยูมี ระบบ ASC+T เป็นต้น
SRS
ที่ปรากฏอยู่บนพวงมาลัย หรือว่า บริเวณคอนโซลด้านผู้โดยสารด้านหน้า นั่นคือ แสดงว่าบริเวณดังกล่าวติดตั้งถุงลมนิรภัย ส่วนถ้าพบคำเต็มๆ ว่า side airbag หมายถึงการติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านข้าง ซึ่งจะอยู่ที่บริเวณเบาะนั่ง เพื่อปกป้องลำตัวมือรถถูกกระแทกจากด้านข้าง
IC
คำนี้มาจากคำเต็มว่า Inflatable Curtain นั่นคือ ม่านนิรภัยด้านข้าง ม่านเหล่านี้ ก็คือ ถุงลมนิรภัยประเภทหนึ่งนั่นเอง ส่วนใหญ่ติดตั้งไว้บริเวณเหนือขอบประตูภายในห้องโดยสาร เมื่อเกิดแรงกระแทกด้านข้าง จะพองตัวออกเพื่อป้องกันบริเวณศีรษะ ปัจจุบันพบได้ในรถยนต์ระดับหรูหรา
WHIPS
เป็นอีกระบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ระบบนี้จะช่วยป้องกันศีรษะและลำคอเมื่อถูกกระแทกจากด้านหลัง ทั้งนี้ โดยทั่วไปเมื่อเกิดการชนจากด้านหลังศีรษะและลำคอด้านหลังจะกระแทกกับหมอนรองศีรษะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ โดยเฉพาะช่วงคอ ระบบนี้จะทำให้เบาะนั่งและหมอนรองศีรษะ เคลื่อนตัวถอยหลัง เพื่อลดแรงกระแทกลง
ELR
มักพบเห็นได้บ่อยๆ ในรถทั่วๆ ไป เป็นคำย่อที่มาจากคำว่า Emergency Locking Retractor หรือเข็มขัดนิรภัยแบบล็อกอัตโนมัติ
SIPS
ระบบนี้อาจจะไม่ได้แสดงผลงานให้เห็นโดยตรง แต่เป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบตัวถัง ด้วยการกระจายแรงชนจากด้านข้าง คือ เมื่อรถถูกชน แทนที่บริเวณดังกล่าวต้องรองรับแรงชนเพียงจุดเดียว โครงสร้างนี้จะทำให้แรงชนดังกล่าว กระจายออกไปด้านข้างทั้งซ้าย ขวา หรือด้านบน และด้านล่าง ช่วยให้บริเวณที่ถูกชน โดยเฉพาะบริเวณที่คนนั่งอยู่ลดความรุนแรง และการบาดเจ็บลงไปได้มาก
Monocoque
คำนี้อ่านว่า โมโนค็อกเป็นคำเต็ม ครั้งหนึ่งผู้ผลิตรถยนต์หลายรายนิยมนำมาใช้ในคำโฆษณา ซึ่งก็หมายถึงว่าเป็นตัวถังแบบชิ้นเดียว ไม่มีแชสซีส์ เป็นระบบทั่วไปของรถยนต์นั่งในปัจจุบัน
ECC Gross
การวัดกำลังเครื่องยนต์เฉพาะที่เครื่องยนต์อย่างเดียว คือ นำเครื่องยนต์มาตั้ง แล้วก็ใช้เครื่องมือวัดโดยตรง
ECC Net
จะวัดจากรถทั้งคัน นั่นคือ เครื่องยนต์ส่งผ่านกำลังไปยังเพลาขับและล้อขับแล้ว ดังนั้น เมื่อวัดออกมา ECC Gross ย่อมสูงกว่า ECC Net ทุกครั้งไป
EFI
เป็นคำที่พบได้บ่อยมาก โดยค่ายรถมักเขียนว่า หัวฉีด EFI ซึ่งก็คือ Electronic Fuel Injection ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยอิเล็กทรอนิกส์
ECU
เป็นอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ เครื่องยนต์ คำนี้คือ Electronic Control Unit เป็นหัวใจสำคัญของระบบอิเล็กทรอนิกส์ของรถทั้งคัน
VTC
(variable timing control) เป็นระบบการทำงานของเครื่องยนต์ มีหลักการ คือ ปรับจังหวะการเปิดปิดวาล์วให้มีความเหมาะสมกับการใช้งาน ช่วยควบคุมส่วนผสมของน้ำมันและอากาศให้ได้สัดส่วนที่พอดี หรืออีกคำหนึ่งที่มีความหมายคล้ายๆ กันนั่นคือ VVT-i (Variable Valve Timing-Intelligent)
CDI
คำนี้เริ่มได้ยินจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ อี 220 ซีดีไอ ซึ่งก็คือ Common Rail Direct Injection เป็นระบบเครื่องยนต์ดีเซลหัวฉีดแบบห้องเผาไหม้รวม
GDi
ระบบเครื่องยนต์เบนซิน ฉีดตรงเป็นเครื่องสมัยใหม่ที่มักใช้ระบบเทอร์โบร่วมด้วย
CD
ไม่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ แต่คือหลักอากาศพลศาสตร์ นั่นคือ แรงต้านลมของรถ ตัวเลขที่กำหนด CD ยิ่งน้อยยิ่งดี เพราะหมายถึงว่าแรงต้านลมน้อย ทำให้รถเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น ลดเสียงดัง และที่สำคัญ คือ ช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิงได้อย่างมาก เพราะว่าการขับเคลื่อนรถยนต์แต่ละครั้งนั้น พลังงานของเครื่องยนต์ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับแรงต้านลมนี่เอง