Home Car Guru เครื่องร้อนติดยาก

เครื่องร้อนติดยาก

 ในรถเก๋งหรือรถอะไรก็ตามที่ใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง โดยมีระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้าควบคุมตามสมัยนิยมระบบไฟฟ้านี้จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวควบคุมทุกองค์ประกอบที่จะทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้ เริ่มกันตั้งแต่ระบบอากาศ หรือไอดี (Intake air) และไม่ว่าจะเป็นระบบอากาศดูดเข้าตรงๆ ธรรมดา หรือแบบมีเครื่องช่วยอัดอากาศ ไม่ว่าจะเป็น Turbo charger , Super charger หรือ, Compressor อากาศที่จะเข้าสู่ห้องเผาไหม้ก็จะถูกควบคุมหรือตรวจวัดด้วยอุปกรณ์ 2 อย่างคือ วัดปริมาณอากาศ (Air Mass Sensor) และวัดอุณหภูมิของอากาศ (Air Temperature Sensor) ก็เพื่อให้สัมพันธ์กันกับรอบเครื่อง หรือ ตามความต้องการที่เครื่องยนต์จะนำไปใช้งาน

                  ในระบบไฟจุดระเบิด (Ignition) ก็จะมีคอยล์ (Ignition coil) เพื่อป้อนกระแสไฟฟ้าแรงสูงเข้าสู่หัวเทียน (Spark plugs) เพื่อจ่ายไฟไปจุดประกายในห้องเผาไหม้ที่มีเชื้อเพลิงที่ผสมกับอากาศรออยู่แล้ว ซึ่งขั้นตอนของการจุดประกายไฟก็ต้องสัมพันธ์กันกับระบบเวลา (Timing) ที่จะคอยควบคุมจังหวะว่าจะต้องจ่ายกันเมื่อไร ที่ไหนก่อนที่ไหนหลัง ทุกอย่างจะถูกควบคุมโดยสมองเครื่อง ECU (Electronic Control Unit)
มาถึงระบบเชื้อเพลิงก็จะเริ่มกันที่ถังน้ำมัน (Fuel tank) ซึ่งจะมีปั๊มจ่ายน้ำมัน (Electric fuel pump) ดูดน้ำมันจากถังส่งไปตามท่อทางน้ำมัน (Fuel Pipe) เข้าไปเก็บกักไว้ที่ท่อควบคุม แรงดันน้ำมันนี้จะกักแรงดันไว้ด้วยแรงดันที่คงที่อยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะดับเครื่องยนต์แล้วก็ตาม ท่อกักแรงดันนี้ก็จะมีท่อแยกต่อเข้าไปยังหัวฉีดไฟฟ้า (Electric fuel injection valve) ซึ่งหัวฉีดนี้จะฉีดจ่ายน้ำมันออกไปตามปริมาณที่สมองเครื่องสั่งการในจังหวะเวลาที่ถูกกำหนดเอาไว้
ในเครื่องยนต์เบนซินที่อายุการใช้งานผ่านมาเนิ่นนาน ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มออกอาการที่หลักแสนกิโลเมตรขึ้นไปอาการที่ว่านี้ก็คือ เครื่องร้อนแล้วสตาร์ทติดยาก

               อาการเช่นนี้จะเกิดขึ้นจากการใช้งานมาประมาณ 1-2 ชั่วโมง เมื่อดับเครื่องทิ้งไว้สักครึ่งชั่วโมงแล้วกลับมาติดเครื่องอีกครั้งจะสตาร์ทยาก บางครั้ง สตาร์ทจนโมโห หลายรายที่ผู้ใช้รถพาตุ๊กตาหน้ารถแวะซื้อข้าวซื้อของข้างทาง หรือตาม Minimart ในปั๊มน้ำมันแล้วหน้าแตกสตาร์ทรถเท่าไรก็ไม่ติด ต้องเรียกช่างขาจร หรือช่างจากอู่มาแก้ไข และร้อยทั้งร้อยก็ต้องจ่ายเงินซื้อคอยล์จุดระเบิดตัวใหม่ (ใหม่ของเราเก่าของผู้ขาย) โดยลงความเห็นกันว่าคอยล์เสื่อม
             ทั้งนี้ความเป็นจริงแล้วคอยล์ที่ถูกเปลี่ยนไปนั้นก็ทำให้เครื่องติดได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ นั้นไม่ได้เกิดจากคอยล์เสื่อม ถ้ามีคำถามว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วทำไมเครื่องจึงติดได้ คงจะวิสัชนาได้ว่าขณะที่เรียกช่าง กว่าช่างจะมาถึง กว่าจะเตรียมอะไหล่ กว่าจะสับเปลี่ยนชิ้นส่วน เครื่องก็อยู่ในสภาพที่พร้อมจะติดได้แล้ว ถ้าในขณะนั้นไม่เปลี่ยนคอยล์ก็เชื่อว่าเครื่องติดได้
            นัยยะสำคัญอยู่ที่ระบบเชื้อเพลิงครับ เมื่อเครื่องยนต์ปกติก็หมายถึงปั๊มเชื้อเพลิงดูดและจ่ายน้ำมันผ่านไส้กรอง เข้ามากักไว้ที่ท่อกักแรงดันน้ำมัน (Fuel Rail) และรอที่จะส่งต่อเข้าหัวฉีด ถ้าเปรียบง่ายๆ ท่อกักแรงดันน้ำมันนี้ก็เหมือนท่อประปา หัวฉีดก็เหมือนกับก๊อกน้ำที่มีวาล์วปิดเปิด เมื่อเครื่องติดก็หมายถึงท่อเมนประปามีน้ำไหลตลอดโดยที่ก๊อกน้ำถูกเปิดไว้ส่วนน้ำจะไหลค่อยไหลแรงขึ้นอยู่กับการปิดเปิดก๊อก
             ก๊อกน้ำประปาวาล์วปิดเปิดเป็นแบบกลไกเมื่อหมุนเปิด หรือปิดวาล์วน้ำก็จะหยุดไหล โดยที่น้ำยังมีอยู่ในท่อเมนด้วยแรงดันที่คงที่ตลอดเวลา เช่นกันกับเครื่องยนต์เมื่อดับเครื่องหัวฉีดไฟฟ้าจะถูกสั่งให้ปิดการสั่งจ่ายน้ำมัน (เหมือนกับปิดก๊อกประปา) แต่แรงดันน้ำมันที่คงที่จะอยู่ในท่อกักแรงดันน้ำมันตลอดเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถที่จะติดเครื่องได้ตลอดเวลา
               หัวฉีดเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า (วาล์ว) การปิดเปิดสั่งงานด้วยไฟฟ้าแต่ทำงานด้วยกลไก เมื่อดับเครื่อง และหัวฉีดชำรุดก็หมายถึงว่าการทำงานของกลไกในหัวฉีดปิดรูน้ำมันไม่สนิท โดยเฉพาะในขณะที่เครื่องยนต์ร้อนเข็มเล็กๆ ที่จะมาปิดรูเข็ม อาจจะเคลื่อนตัวติดขัดปิดรูไม่สนิท (เหมือนกับปิดก๊อกน้ำไม่แน่น) แรงดันน้ำมันจากท่อกักแรงดันมีแรงดันที่มากพอที่จะสั่งน้ำมันผ่านรูที่ปิดไม่สนิท น้ำมันนั้นจึงรั่วเข้าไปเจิ่งนองในห้องเผาไหม้ หรือหัวลูกสูบก็เกิดอาการที่เรียกว่า นำมันท่วมหัวเทียน สตาร์ทไม่ติด ตราบใดที่อุณหภูมิเย็นลงหรือน้ำมันในท่อกักแรงดันหมดแล้ว เมื่อดับเครื่องปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถสั่งน้ำมันมากักเก็บไว้ได้ และเวลาเนิ่นนานพอจนน้ำมันที่รั่วไปค้างอยู่ในห้องเผาไหม้ระเหยออกไปหมด (ก็คงเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รอช่างอยู่) เมื่อกลับมาสตาร์ทก็สตาร์ทติดอีกครั้ง แม้จะใช้เวลามากกว่าเดิม (น้ำมันจากปั๊มเชื้อเพลิงเข้าสู่ท่อกักและไปที่หัวฉีด) แต่ก็ติดได้ไม่ยาก
              และแน่นอนครับการบริโภคน้ำมันก็จะเพิ่มมากขึ้นเพราะรั่วออกและระเหยออกไปโดยไม่ได้นำไปใช้งาน รถท่านใดมีอาการดังว่าก็เตรียมเงินเปลี่ยนหัวฉีดได้แล้ว ในกรณีนี้จะมีอาการคล้ายกันเกิดขึ้นคือ จอดค้างคืนแล้วสตาร์ทติดยาก ก็หมายถึงว่าท่อกักแรงดันที่มีวาล์วกักแรงดันนั้นไม่อยากทำงานแล้ว วาล์วกักแรงดัน (Pressure Pegulator valve) จะปล่อยให้น้ำมันไหลกลับเข้าถัง เมื่อสตาร์ทในตอนเช้า กว่าน้ำมันจะมาถึงท่อกักและหัวฉีดใช้เวลาพอสมควร และถ้าวาล์วกักแรงดันนี้รั่วมากๆ แม้ปั๊มจะส่งน้ำมันมาด้วยความแรง วาล์วกักเอาไว้ไม่อยู่ไหลกลับเข้าถัง กว่าจะสะสมแรงดันในท่อมากพอที่จะจ่ายไปยังหัวฉีดก็ต้องสตาร์ทกันจนโมโหแหละครับ
                        ลองดูนะครับ กับอาการที่ว่ามานี้ทั้ง 2 ปัญหา ร้อนแล้วติดยาก กับ เย็นแล้วติดยาก และรถกินเชื้อเพลิงมากกว่าปกติ ถ้าเป็นเครื่องหัวฉีดก็อยู่ที่ 2 อย่างนี่แหละครับ พลาดยาก[fblike]

Previous articleESP
Next articleธนบุรีพานิช ขยายลงทุน