ออดี้  (Audi) รถที่ดีที่สุด1ใน3 ของเยอรมันได้เวลาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ธุรกิจของออดี้เปลี่ยนมือจากลีนุตพงษ์ ไปสู่ตระกูล ล่ำซำแต่รูปแบบของธุรกิจออดี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากโครงสร้างเดิม

ความเคลื่อนไหวของออดี้ เกิดขั้นอีกครั้งเมื่อทีมงานประชาสัมพันธ์  ส่งPress Release ถึงสื่อมวลชนสายรถยนต์ ในวันที่ 10 ต.ค.2559 หัวข้อ “กฤษฎา ล่ำซำ” พร้อมจัดทัพนำ “ออดี้ ไทยแลนด์

เนื้อหาระบุว่า  บริษัท ไมซ์สเตอร์ เทคนิค จำกัด โดย กฤษฎา ล่ำซำ ได้รับการแต่งตั้งจาก ออดี้ เอจี ประเทศเยอรมัน เพื่อเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ออดี้อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเป็นรายใหม่ พร้อมเดินหน้าเตรียมเปิดตัวกลยุทธ์การบริหารงาน “ออดี้ ไทยแลนด์ ศักราชใหม่” อย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้AUDI_0

 ไมซ์สเตอร์ เทคนิคยันคว้าสิทธิ์ขายออดี้

ไมซ์สเตอร์ เทคนิค เป็นบริษัทน้องใหม่ที่เพิ่ง จดทะเบียน เมื่อวันที่25 ก.ค.2559 ที่ผ่านมาโดยมี ทุนจะทะเบียน 40ล้านบาท มีสำนักงานอยู่ที่ เลขที่ 252/123 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร โดยมีคณะกรรมการสำคัญประกอบไปได้ นายกฤษฎา ล่ำซำ นางนวลพรรณ ล่ำซำและ นายธีรคุปต์ ธรรมมณีวงศ์ ระบุประเภทของการประกอบกิจการเพื่อการขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรถกระบะรถตู้ และรถขนาดเล็กที่คล้ายกัน

บริษัท ไมซ์สเตอร์ เทคนิค จำกัด ที่ตนเป็นผู้ก่อตั้ง โดยมีนางสาวนวลพรรณ ล่ำซำ ร่วมถือหุ้น และทีมงาน รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการคัดเลือกจากกระบวนการคัดสรรอันเข้มข้นของ ออดี้ เอจี ประเทศเยอรมัน ในการแต่งตั้งเป็นผู้รับสิทธิรายใหม่เพื่อนำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ออดี้อย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในโอกาสนี้” นายกฤษฎา ล่ำซำ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไมซ์สเตอร์ เทคนิค จำกัด กล่าว

กฤษฎา ล่ำซำ
กฤษฎา ล่ำซำ

นายกฤษฎา ล่ำซำ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัท ไมซ์สเตอร์ เทคนิค จำกัด ได้มีการเจรจาหารือกับผู้ถือสิทธิรายเดิม  ทั้งสองบริษัทกำลังเดินหน้าประสานความร่วมมือเกี่ยวกับข้อมูลด้านต่างๆ เพื่อให้การเปิดศักราชใหม่ของ “ออดี้ ไทยแลนด์” เป็นไปอย่างไร้รอยต่อและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้าแบรนด์รถยนต์ออดี้ในประเทศไทยต่อไป

ทางบริษัทฯ จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแผนการดำเนินธุรกิจ และรถยนต์รุ่นต่างๆ ที่เตรียมนำเสนอ ให้ทราบอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้

สำหรับกฤษฎา ล่ำซำ เป็นอดีตรองประธานกรรมการ และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร ธนาคารกสิกรไทยเคยดูกลยุทธ์ทั้ง 2 องค์กร คือ กสิกรไทยในฐานะรองประธานกรรมของทั้งกรุ๊ป โฮลดิ้ง และเมืองไทยประกันชีวิต

ออดี้ ลมหายใจสุดท้ายในมือยนตรกิจเจน3

ออดี้เริ่มต้นในประเทศไทยราวปี2534 หลังจากรัฐบาลของนายอนันต์ ปัญญารชุนประกาศเปิดเสรีตลาดรถยนต์ไทยเป็นโอกาสให้รถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปเข้ามาจำหน่ายได้ เพราะกำแพงภาษีที่พังทะลายลงไป ในยุคนั้นยนตรกิจ ในฐานะที่ถือลิขสิทธิ์ของโฟล์คสวาเก้น อยู่ในมือด้วยความสัมพันธ์ที่ดีของโฟล์คสวาเก้น ออดี้ เซียต  สโกด้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรถในเครือโฟล์คสวาเก้น จึงดาหน้าเข้ามายังตลาดไทย

พิทักษ์พันธ์ วิเศษภักดีCr:vlovepeugeot.com
พิทักษ์พันธ์ วิเศษภักดีCr:vlovepeugeot.com

บริษัทคอมเมอร์เชียลมอเตอร์เวอร์ค จำกัด ผู้ที่ถือลิขสิทธิ์รถในเครือโฟล์ค และมี  ร.ท.พิทักษ์พันธ์ วิเศษภักดี (เสี่ยหมู) นั่งบริหารอยู่มีอันต้องกลายเป็นบริษัทลูกของยนตรกิจ เสี่ยหมูในฐานะบุตรบุญธรรมของเสี่ยใหญ่ โดยพ่อของเสี่ยหมู เป็นผู้ฝากฝังหลังจากต้องมีเหตุจำเป็นในการปล่อยไลเซ่นโฟล์คสวาเก้นให้ยนตรกิจครอบครอง

เมื่อออดี้ เข้ามาในขณะนั้นอดีตนักเรียนเก่าเยอรมันอย่างเสี่ยหมูจึงถูกส่งไปรับหน้าที่ปลุกปั้นออดี้ พร้อมกับ ลูกเขยของเสี่ย  บุญฤทธิ์ ผ่องเมฆินทร์ เป็นคนทำตลาด

” เสี่ยหมู” ทำออดี้ในช่วงแรกที่คนไทยไม่รู้จักออดี้ เห็นโลโก้เป็นวงต่อกันนึกว่า รถโอลิมปิก เดือนร้อนถึงการสร้างการรับรู้โดยการส่งนักข่าวออกไปดูโรงงานและเรียนรู้ระบบควอทโทรที่เก่งกาจของออดี้แต่ ออดี้เริ่มขายรถรหัส ตัวเลขยาวๆ ในไทยเช่น   เอ100  เอ80  อย่างไรก็ตาม เสี่ยหมูที่กำลังสนุกกับการทำออดี้เพราะเบื่อรถตู้โฟล์คที่ทำตลาดมานานกลับ ต้องถูกกดดันออกไปดูแบรนด์เปอโยต์ ในสภาพหัวฟัดหัวเหวี่ยง โดยออดี้ตกอยู่ในการดูแลของ “กิตติ มาไพศาลสิน “มือการตลาดคนสนิทของเสี่ยเท้ง บันเทิง จึงสงวนพรสุข ผู้บุกเบิกการทำตลาดรถยนต์โอเปิล และโฮลเด้น ภายใต้ บริษัท พระนครยนตรการ จำกัด  (PNA) ที่ข้ามห้วยมาอยู่กับเสี่ยเซี๊ย แห่งยนตรกิจ หลังจากกิตติ ปั้นฮุนไดให้เสี่ยเท้งจนสำเร็จในช่วงนั้น

ออดี้ ทำตลาดได้ดีในช่วงแรกๆ แต่หลังจากที่รัฐบาลกลับไปใช้ภาษีฐานเดิม รถออดี้แพงขึ้นไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ยนตรกิจ ในช่วงนั้นดำริที่จะเปิดสายการประกอบ ออดี้โดยรุ่นแรกที่ทำการประกอบคือ ออดี้ เอ6  พร้อมกับโฟล์คสวาเก้นพาสสาท อย่างไรก็ตามเมื่อหมดโมเดล ออดี้ก็หัวไปนำเข้าและลดความสำคัญลงไป จะมีฮึดขึ้นมาเป็นระลอกๆ ที่เยอรมันสั่งทำเป้าโดยออดี้ได้รถมาก็จะใช้นโยบายราคาเป็นหลักโดยระบุว่าบริษัทแม่สนับสนุนแต่ทุกครั้งที่ทำแบบนี้เมื่อหมดล็อตภาคบังคับออดี้ก็ไม่มีรถล็อตต่อๆ ไปออกมาขาย
เจน3แห่งการเปลี่ยนแปลง
ความสัมพันธุ์ยนตรกิจกับออดี้ อยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อมานานและหลายครั้ง ทำให้สภาพออดี้เหมือนแบรนด์ที่ถูกยาเบื่อเมื่อจะโตก็โดนยา โดยเฉพาะรอบแรกที่เข้มข้นคือ การที่ยนตรกิจ ถือรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูอยู่ในมือและถือออดี้

ธันยนันท์ ลีนุตพงษ์
ธันยนันท์ ลีนุตพงษ์

ในเวลาเดียวกัน โฟล์คสวาเก้นไม่ยอมให้ ยนตรกิจใช้นโยบายมัลติแบรนด์สำหรับเครือข่ายกระจายสินค้าทำให้ยนตรกิจต้องมี การแบ่งกลุ่มทำรถเป็นรถกรู๊ป เอ ซึ่งมีเครือโฟล์ค ออดี้ เซียต สโกด้าทำตลาด ในขณะกรุ๊ปบี ประกอบไปด้วยบีเอ็มดับเบิลยู เปอโยต์ ซีครอง และฟอร์ด เป็นหลัก
นอกจากนี้ ความร่วมมือกับออดี้ เอจี ยนตรกิจยังเคยตั้งบริษัท ร่วมทุนกับออดี้เพื่อดูแลด้านการตลาดโดยเฉพาะหรืออีกนัยหนึ่งคือการเตรียมความพร้อมของออดี้ที่จะเข้ามาทำตลาดไทยแต่จากยอดขายที่น้อยทำให้ออดี้ เอจี ล้มโมเดลร่วมทุนกับท้องถิ่นไป และตลอดเวลาข่าววงในก็พูดถึงความเคลื่อนไหวของออดี้ น้อยลงแต่มีข่าวการที่โฟล์คกรุ๊ปจะลงโรงงานในไทยต่อเนื่องมาตลาดซึ่งท้ายสุด โฟล์คกรุ๊ปเจอจับเรื่อง แจ้งตัวเลขปลอม ทำความเสียหายมากมายต่อชื่อเสียงเลยหยุดแผนขยายการผลิตในไทย
ในช่วงรอยต่อของยนตรกิจแบ่งสมบัติ ออดี้ ตกอยู่ในมือของพี่ใหญ่ สรวิช ลีนุตพงษ์ ซีอีโอ บริษัท ยนตรกิจคอร์ปอเรชั่น จำกัด  ผู้แทนจำหน่ายออดี้  ทำให้แบรนด์ต่างๆ กระจัดกระจายไปตามพี่น้องไม่เป็นกรุ๊ป  เข่น สโกด้า ไปอยู่กับเสี่ยเชียร(วิเชียร ลีนุตพงษ์) โฟล์คไปอยู่กับเสี่ยเล็ก(วิทิต ลีนุตพงษ์) ซึ่งล่าสุดออดี้อยู่ภายใต้การดูแลของยนตรกิจ เจน3 “แพร์” ธันยนันท์  ลีนุตพงษ์

Audi Center Bangkok
Audi Center Bangkok

เจน3อย่างแพร์” ธันยนันท์  ลีนุตพงษ์  กลับมาสร้างความคึกคักให้ออดี้อีกครั้ง ด้วยการทำงานแบบคนรุ่นใหม่ มีการเปิดตัวรถยนต์ เอ3 และเอ8  ล่าสุดคือการเปิดแฟลกซ์ชิป สโตร์ ครั้งแรกในไทย หรือ Audi Center Bangkok (ถนนเทียมร่วมมิตร) ซึ่งเป็นการย้ายสำนักงานออดี้จากถนนพระราม9 มาอยู่ข้างๆกับ โชว์รูมเกีย (KIA) ซึ่งในช่วงที่ก่อนสร้างแฟลกซ์ชิป สโตร์ก็มีความยืดเยื้อทำให้ต้องเลื่อนการเปิดจนช้ากว่ากำหนดการเดิม

อย่างไรก็ตามยังไม่ทันเปิดแฟลกซ์ชิป สโตร์ ยนตรกิจคอร์ปอเรชั่นก็ต้องเสียมือการตลาดที่อยู่คู่บารมีจากการลาออกของอาภัสรา   ประทีปะเสน ผู้อำนวยการการฝ่ายการตลาดรถยนต์ออดี้

อาภัสรา ประทีปะเสน
อาภัสรา ประทีปะเสน

และนับจากเปิดตัว Audi Center Bangkok อย่างเป็นทางการถือเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของออดี้ในมือยนตรกิจ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ของเจน3ที่ได้บริหารงานก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงลิขสิทธิ์ใหม่

เจ้าเทคโนโลยีแห่งอิงโกลสตัดช์

ออดี้ (Audi)เป็นแบรนด์พรีเมียมที่มีประวัติศาสตร์ของความสำเร็จมายาวนานถึง 100 ปี นับจากการรวมตัวกันของ 4 บริษัทรถยนต์ จนเป็นที่มาของสัญลักษณ์ 4 ห่วงในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่
1. WANDERER
2. HORCH
3. DKW
4. AUDI

ออดี้วางตำแหน่งเป็นผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม หรูหรา เจาะลูกค้าระดับบน มีฐานการผลิตใหญ่ที่เมืองอิงโกลสตัดช์ แล เนคกาซูลม (เยอรมนี),และมีโรงงานอื่นๆ คือ  เกเยอร์ (ฮังการี), ชางชุน (จีน) และบรัสเซลส์ (เบลเยี่ยม) ออดี้มีการทำการตลาดกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยออดี้ เอจี (Audi AG) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ออดี้ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในเครือได้แก่ บริษัท Lamborghini S.p.A ในเมือง Sant’Agata Bolognese อิตาลี

ฐานผลิตใหญ่ออดี้อิงโกลสตัดช์ แล เนคกาซูลม Cr:audi.de
ฐานผลิตใหญ่ออดี้อิงโกลสตัดช์ แล เนคกาซูลม Cr:audi.de

สำหรับประเทศไทย ออดี้ ทำตลาดประเทศไทยมายาวนานกว่า 20 ปี ภายใต้การทำตลาดของบริษัท เยอรมัน มอเตอร์ เวิร์ค จำกัดในเครือยนตรกิจ คอปอร์เรชั่น ปัจจุบัน( 2559)ออดี้วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ได้แก่ รถยนต์ซีดาน เอ 3 ลิมูซีน (Audi A3 Limousine) ออดี้ เอ4 (Audi A4), ออดี้ เอ6 (Audi A6), ออดี้ เอ8 แอล ไฮบริด รถยนต์เอนกประสงค์ (SUV) ได้แก่ ออดี้ คิว3 (Audi Q3), ออดี้ คิว5 (Audi Q5), ออดี้ คิว7 (Audi Q7) และรถยนต์สปอร์ต ได้แก่ ออดี้ เอ5 (Audi A5) และออดี้ ทีที คูเป้  (Audi TT Coupe)โฉมใหม่

จุดเด่นของออดี้ คือการสร้างรถด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องยนต์ระบบ5วาล์วต่อสูบ และ เทคโนโลยี TFSI และ TDI ระบบตัวถังทำจากวัสดอลูมิเนี่ยม สเปซเฟรม และระบบขับเคลื่อน4ล้อ ควอทโทร ออดี้เป็นบริษัทแรกในโลกที่ริเริ่มการทดสอบ “Crash Test” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1938

ออดี้ ทีที โฉมใหม่เมื่อครั้งที่ยนตรกิจเริ่มกลับมารุกตลาดโดยเจน3
ออดี้ ทีที โฉมใหม่เมื่อครั้งที่ยนตรกิจเริ่มกลับมารุกตลาดโดยเจน3

บทสรุป

ในประเทศไทย ตลอดเวลาที่ออดี้อยู่ในมือของยนตรกิจ แม้แบรนด์จะไม่เป็นที่รู้จักแต่ไม่สามารถทำยอดขายได้มากนัก โดยเฉพาะระบบควอทโทร แทบไม่มีใครพูดถึง ตรงกันข้ามกับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่ส่งระบบขับเคลื่อน4ล้อ โฟร์เมติก ลงทำตลาดในรถกลุ่มเอสยูวีอย่างคึกคัก เมอร์เซเดส-เบนซ์และบีเอ็มดับเบิลยูถือเป็นคู่แข่งตลอดกาลของออดี้ ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู ทำตลาดอย่างโดดเด่น เนื่องจากเป็นการบริหารจัดการโดยตรงจากบริษัทแม่ ทั้งนี้ดูจากโครงสร้างธุรกิจใหม่ของออดี้ในไทยที่ประกาศ ออดี้ยังคงใช้ระบบ การจัดจำหน่ายโดยการตั้งตัวแทน ในขณะที่ออดี้ ยังไม่ได้ประกาศแผนอื่นๆ ที่ชัดเจนแต่หากเป็นการนำเข้ารถสำเร็จรูปเหมือน ที่ยนตรกิจเป็นอยู่ความเสียเปรียบในเรื่องฐานภาษีนำเข้าที่ต้องเสีย เมื่อเทียบกับ ค่ายเบนซ์และบีเอ็มดับเบิลยูที่มีการประกอบรถในประเทศไทย

ออดี้อาจจะต้องหาทางทำรถราคาต่ำลงมาแข่งขันซึ่งที่ผ่านมา ยนตรกิจทำได้เป็นช่วงๆ หมดโปรฯหมดล็อต ก็เลิกลากันไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ออดี้ยากแน่ที่จะทำยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำ  นอกจากนี้ในด้านภาพพจน์หาก”ไมซ์สเตอร์ เทคนิค” เดินไปถูกทาง การปรับปรุงภาพลักษณ์แบรนด์ครั้งใหญ่จะเกิดขึ้น แต่นั่นจะต้องจ่ายด้วยราคาแพงเหมือนในช่วงที่ แบรนด์บีเอ็มดับเบิลยูรับมรกดมาจากยนตรกิจ บีเอ็มดับเบิลยู เอจี ก็ประกาศสัญญาประชาคมเรื่องของการดูแลลูกค้า เป็นสิบข้อกันเลยทีเดียวกว่าคนจะเชื่อว่า บีเอ็มดับเบิลยู เปลี่ยนไป ไมซ์สเตอร์ เทคนิค คงต้องให้เวลาระยะหนึ่งในการซื้อใจลุกค้าและต้องเลือกพาร์ทเนอร์ทำงานให้ถูกทิศถูกทางเพราะ วงการรถยนต์นั้น ขับเคี่ยวกันยิ่งกว่าเสือและสิงห์ และต่างพร้อมลับมีดไว้เพื่อ” ยินดีต้อนรับผู้มาใหม่เสมอ” [fblike]