หม้อน้ำของรถยนต์มีไว้เพื่อระบายความร้อนของเครื่องยนต์ที่เกิดจากการทำงานของเครื่องยนต์ เมื่อก่อนนี้หม้อน้ำจะเป็นแบบเหล็กทั้งดุ้น ตัวรังผึ้งหรือท่อทางเดินน้ำในหม้อน้ำ ก็อาจจะทำจากเหล็กหรือทองแดง ตัวดูดซับความร้อนก็เช่นกัน เป็นเหล็กแผ่นหรือทองแดงเส้นบางเฉียบ วางเรียงรายต่อเนื่องกันรอบๆ ท่อทางเดินของหม้อน้ำ ตัวดูดซับหรือครีบระบายความร้อนก็จะนำพาเอาความร้อนในท่อทางเดินน้ำออกมาให้พัดลมเป่ากระจายความร้อนออกไป หม้อน้ำยุคนั้นจึงหนาและหนัก ใหญ่โตเทอะทะ
ประกอบกับความเชื่อที่ว่าเครื่องเย็น (อุณหภูมิของเครื่อง) ยิ่งดี การเพิ่มหรือทำให้ท่อทางเดินน้ำมีมากขึ้น เพื่อที่จะได้จุน้ำให้มากๆ เพราะหวังว่าจะทำให้เครื่องไม่ร้อน จึงเป็นความเชื่อต่อๆ กันมา และหม้อน้ำในยุคนั้นแม้ว่าจะหนาหนักจากวัสดุที่ทำ แต่การที่จะซ่อมแซมที่ท่อน้ำผุกร่อนหรือแตกหักก็ทำได้ไม่ยาก เสียค่าใช้จ่ายน้อย เช่น บัดกรีตรงจุดที่รั่วซึม หรือถ้าผุกร่อนก็สามารถที่จะเปลี่ยนได้เฉพาะท่อน้ำที่เสียหายเป็นท่อๆ ไปได้ไม่ยาก
มาดูกันนะครับว่าโครงสร้างของหม้อน้ำเป็นอย่างไร
ให้คุณนึกถึงหลอดกาแฟหรือหลอดดูดน้ำอัดลม กำขึ้นมากำหนึ่ง หลอดกาแฟนั่นก็คือท่อน้ำที่จะให้น้ำไหลผ่านระหว่างด้านบนกับด้านล่าง ที่เกือบสุดปลายท่อจะเป็นโลหะเหล็กหรือทองแดงก็ได้ เจาะรูให้เท่ากับความโตของหลอดกาแฟทุกๆ รู แล้วเอาหลอดกาแฟสอดเข้าไปในรูเหล่านั้นทั้งล่างและบน ทำให้ยึดแน่นติดกันด้วยการเชื่อมหรือบัดกรีแล้วแต่ชนิดของโลหะ
จากแผ่นโลหะที่มีท่อเสียบอยู่ทั้งสองด้าน คุณก็หาฝาครอบซึ่งก็เป็นโลหะชนิดเดียวกัน โดยที่ฝาครอบทั้งล่างบนนี้ คุณต้องทำให้มีเนื้อที่ว่างอยู่หรือสูงกว่าปลายหลอดกาแฟสักนิ้วเศษๆ ฝาครอบนี้ก็จะปิดสนิทแน่นกับแผ่นยึดของหลอดกาแฟที่ถูกเสียบเอาไว้ด้วยการเชื่อมหรือบัดกรี เท่านี้คุณก็ได้หม้อน้ำมาหนึ่งลูกแบบหยาบๆ นั่นเป็นโครงสร้างของหม้อน้ำในอดีต ซึ่งจะมีทั้งความหนาและหนัก
ยุคสมัยเปลี่ยนไปพร้อมกับการพัฒนาทางเครื่องยนต์ รถแรงขึ้นวิ่งเร็วขึ้นประกอบกับทองแดงที่นำมาทำท่อทางน้ำ (หลอดกาแฟ) มีราคาสูงขึ้นหายากขึ้น ผลิตได้ยาก การใช้อะลูมิเนียมแทนทองแดงจึงเกิดขึ้น โดยที่การระบายความร้อนมีประสิทธิภาพไม่ด้อยกว่าทองแดง
ประการสำคัญคือมีน้ำหนักเบาราคาถูกพร้อมๆ กับเครื่องยนต์ในยุคใหม่ เครื่องต้องร้อนเร็วพร้อมๆ กับการระบายความร้อนต้องรวดเร็วขึ้นด้วย หลอดกาแฟที่คุณกำไว้แต่เดิมนั้น เป็นเหล็กหรือทองแดงก็เปลี่ยนมาเป็นอะลูมิเนียมแผ่นเหล็กเดิมที่เจาะรูไว้ เพื่อสอดหลอดกาแฟก็เปลี่ยนเป็นอะลูมิเนียม หลอดกาแฟที่เดิมยึดติดกับแผ่นโลหะด้วยการเชื่อมหรือบัดกรีก็เปลี่ยนมาผนึกหรือซีลด้วยยางทนความร้อนหยุ่นตัวได้ กรอบหรือฝาปิดจากเหล็กก็กลายมาเป็นพลาสติกหรือไฟเบอร์ จากที่เคยกำหลอดกาแฟในแนวดิ่งเพื่อให้น้ำไหลจากบนลงล่างได้สะดวก ก็กลายมาเป็นกำไว้ในแนวนอน เมื่อน้ำร้อนวิ่งผ่านก็จะเคลื่อนตัวได้ช้าลง ทำให้มีเวลามากพอที่จะเอาความร้อนระบายทิ้ง
หม้อน้ำในยุคใหม่จึงบางและเบา หลอดกาแฟในยุคใหม่เมื่อเป็นอะลูมิเนียมและกรอบทั้งล่างบนก็เป็นพลาสติก จึงตัดปัญหาเรื่องของการเป็นสนิมไปได้อย่างหนึ่ง แต่กรอบพลาสติกแม้จะดูว่าทนทาน (ต่อความร้อน) แต่ก็เปราะบางกับการแตกหัก การป้องกันการรั่วซึมโดยการเชื่อมหรือบัดกรีก็กลายมาเป็นยางเส้นเล็กๆ ทนความร้อน แต่ก็เสียรูปหรือเสื่อมสภาพได้ง่ายๆ
หม้อน้ำรั่วก่อนนี้แก้ไขได้ด้วยการเชื่อมหรือบัดกรี แต่หม้อน้ำรั่วในรถปัจจุบันเกิดจากการแตกหักของพลาสติก และการเสื่อมสภาพหรือเสียรูปของยางที่อัดแน่นกันอยู่ ก็ต้องเปลี่ยนกันใหม่ทั้งลูก แต่การแก้ไขเพื่อที่จะเสียเงินได้น้อยกว่าการเปลี่ยนทั้งลูก ก็สามารถที่จะทำได้ คือ การเปลี่ยนกรอบจากพลาสติกเป็นเหล็กหรือทองแดง หลอดกาแฟหรือท่อทางน้ำจากอะลูมิเนียม ก็เปลี่ยนเป็นทองแดง การยึดติดกันของส่วนประกอบจากที่เป็นยาง ก็ถูกทำให้ย้อนกลับไปแบบดั้งเดิมคือบัดกรีหรือเชื่อม คุณก็จะได้หม้อน้ำลูกใหม่แข็งแรง ส่วนเรื่องทนทานก็ขึ้นอยู่กับฝีมือและวัสดุที่ใช้ แต่แน่นอนครับ สนนราคาถูกกว่าของเบิกห้างมากกว่าครึ่ง และประการสำคัญต่อไป ก็สามารถที่จะซ่อมแซมได้ถ้ามีปัญหา
ปัญหาที่เกิดจากหม้อน้ำก็ดูเหมือนจะมีอยู่ 2 อย่าง คือ รั่วและตัน ถ้ารั่วก็วินิจฉัยได้ไม่ยาก ถ้าหม้อน้ำตัน อาการบ่งบอกที่เห็นได้ชัดก็คือยิ่งวิ่งยิ่งร้อน รถติดๆ ก็ไม่เท่าไร แต่ยิ่งวิ่งยิ่งร้อน ข้อควรพิจารณาก่อนก็คือวาล์วน้ำหรือเทอร์โมสตัด ถ้าวาล์วน้ำดีก็หม้อน้ำตัน ถ้ารถคุณจำเป็นที่ต้องเติมน้ำบ่อยๆอย่าลืมเติมน้ำยาหม้อน้ำด้วยครึ่งต่อครึ่ง ถ้าคุณไม่อยากเสียเวลามาคำนวณว่าน้ำหายไปเท่าไร ต้องเติมน้ำยาเท่าไร เอาง่ายๆ ที่ผมใช้ประจำ หาแกลลอนเปล่าใส่น้ำมันล้างให้สะอาด ใส่น้ำไปครึ่งหนึ่งและน้ำยาหม้อน้ำอีกครึ่งหนึ่งเติมเมื่อไรก็ได้ อัตราส่วนที่แน่นอน ปิดฝาให้แน่น จะเก็บไว้ท้ายรถหรือโรงรถก็แล้วแต่ความสะดวก