Home รถพาณิชย์ รถบัส ส.ขนส่งทั่วไทยชี้ทดสอบเอียงรถบัสเก่า กระทบท่องเที่ยว

ส.ขนส่งทั่วไทยชี้ทดสอบเอียงรถบัสเก่า กระทบท่องเที่ยว

รายงานข่าว จากสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการที่กรมการขนส่งทางบก ได้ประกาศบังคับใช้เรื่องการทดสอบการทรงตัวของรถโดยสารสาธารณะ 2 ชั้น ซึ่งจะมีผลให้รถดังกล่าวที่ประกอบและจดทะเบียนก่อนวันที่ 1 ม.ค.2556
จะต้องเข้าทำการทดสอบการทรงตัว (เทสเอียง 30 องศา) มีผลให้รถที่เข้าเกณฑ์บังคับต้องมาทดสอบการทรงตัว คือ รถหมวด 30 (รถรับจ้างไม่ประจำทาง) และ รถหมวด 10 (รถประจำทาง-รถร่วม บขส.) รวมแล้วกว่า 7,000 คัน

กรมการขนส่งทางบก อ้างเหตุผลว่า รถโดยสารสองชั้นไม่ปลอดภัยเมื่อมาวิ่งบนถนนสาธารณะ ในกรณีนี้ทางสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) ได้ให้ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ สำหรับรถที่จดทะเบียนใหม่ (หลัง 1 ม.ค.2556) ด้วยดีตลอดมา แต่สำหรับในกรณีรถที่ผ่านการจดทะเบียนก่อน 1 ม.ค.2556 ทางสมาคมฯ ได้มีการพูดคุยกับทางกรมการขนส่งทางบกและคัดค้านมาโดยตลอด เนื่องจากรถจำนวนดังกล่าวได้ผ่านการตรวจและจดทะเบียนถูกต้องโดยกรมการขนส่งทางบกเองมาก่อนหน้านี้ แต่ด้วยข้ออ้างของกรมฯ จะทำให้รถดังกล่าวจำนวนไม่ต่ำกว่า 7,000 คัน เป็นรถที่ผิดกฎหมาย และไม่สามารถต่อทะเบียนได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบในภาพรวมดังต่อไปนี้

1. รถโดยสารจะหายจากระบบตลาดจำนวน 7,000 คัน ซึ่งขัดกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศในปัจจุบัน

2. รถจำนวน 7,000 คัน คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยคันละ 4 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 28,000 ล้านบาท

3. รถโดยสารไม่ต่ำกว่า 4,000 คัน ยังติดภาระหนี้สิน ซึ่งจะทำให้เกิด NPL ในอนาคตและหากรถเหล่านี้ยังแอบฝ่าฝืนนำมาให้บริการจะไม่สามารถทำประกันภัยได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่หากเกิดอุบัติเหตุ

จากการออกระเบียบซึ่งอ้างเรื่องความปลอดภัยดังกล่าว ทางสมาคมฯ ขอชี้แจงว่า รถโดยสารจำนวนดังกล่าวได้ให้บริการมาอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไปทุกคัน แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานความปลอดภัย และจากแหล่งข้อมูลอุบัติเหตุต่างๆ ก็ระบุชัดเจนว่า สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจากพนักงานขับรถ 85% จากถนน 10% และจากรถเพียง 5% เท่านั้น
ทางสมาคมฯ เคยเสนอแนวทางในการร่วมแก้ไขเรื่องความปลอดภัยแก่กรมการขนส่งทางบก ได้แก่ การบังคับให้รถติดตั้งระบบ GPS ในการควบคุมความเร็ว และตั้งศูนย์ควบคุมที่กรมการขนส่งทางบก และในปัจจุบันรถโดยสารทุกคันจะต้องนำเข้าไปตรวจสภาพที่กรมการขนส่งฯ ทุก 6 เดือน และทางสมาคมฯ เองได้ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในการสอบวัดมาตรฐานคุณภาพพนักงานขับรถ ซึ่งเอกชนร่วมกันหาทางแก้ไข เพราะกรมการขนส่งทางบกไม่มีศักยภาพในการผลิตพนักงานขับรถที่มีประสิทธิภาพได้ ร่วมถึงการนำรถเข้าตรวจสภาพปีละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งจะมีการตรวจเข้ม ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อความปลอดภัยของตัวรถแต่ละคันอยู่แล้ว

สุดท้ายนี้ สมาคมผู้ประกอบการขนส่งทั่วไทย (สปข.) ในฐานะเป็นตัวแทนผู้ประกอบการขนส่ง และเป็นตัวแทนภาคประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารรับจ้างสาธารณะได้ดำเนินการร่วมแก้ไขกับทางกรมการขนส่งทางบกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวด้วยดีมาตลอด และเรื่องการทดสอบลาดเอียง
“ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยที่ตรงจุด ควรจะร่วมพัฒนาแก้ปัญหาด้านบุคคลากรมากกว่า”
จึงขอนำเสนอท่านสื่อมวลชนช่วยพิจารณานำเสนอฯ เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวอันเป็นรายได้หลักของประเทศ และบริการรถขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ ได้ให้บริการประชาชนต่อไปได้หลังปี 2559 หากไม่แล้วคงจะพบปัญหาการขาดแคลนรถโดยสารให้บริการเป็นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะวันที่ 1 ม.ค.2559 ซึ่งเป็นวันที่เปิด AEC จะเริ่มสร้างปัญหาการขาดแคลนปริมาณรถเพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเป็นจำนวนมาก ตามนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน ซึ่งทางสมาคมฯ ได้พยายามอย่างยิ่งในการประสานกับภาครัฐฯ ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมา อย่างเต็มที่แล้ว หากแต่ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือ ประเทศไทยคงเข้าสู่สภาวะการขาดแคลนรถที่ถูกต้องตามกฎหมายมาให้บริการอย่างแน่นอน

Previous articleตะลุยแดนจิงโจ้ สัมผัสครอสโอเวอร์ มาสด้า CX-3 สกายแอคทีพ
Next articleอีซูซุรณรงค์เที่ยวไทยผ่านการโครงการ “อีซูซุเยาวชนสัมพันธ์”