ข้อมูลดิบเพราะมันเผาไม่สุก เราขอรวมข้อมูล มาสด้า สกายแอคทีพ แบบอันคัด ไว้ณ.ที่นี้
สกายแอคทีฟ Flow Design – การเดินทางค้นหาแนวทางการออกแบบในอนาคตของมาสด้า
นับจากการเปิดตัวของมาสด้าอเทนซ่า (หรือในบางประเทศใช้ชื่อ มาสด้า6) ซึ่งเป็นรถรุ่นแรกของยานยนต์มาสด้า เจเนอเรชั่นใหม่ในปี 2545 ดีไซน์ของมาสด้าก็ได้รับความชื่นชมจากลูกค้า ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ และนักออกแบบทั่วโลกมากมาย รถยนต์ต้นแบบรุ่นต่าง ๆ ของมาสด้าได้สร้างชื่อเสียงระดับโลกในด้านรูปลักษณ์ที่สะดุดตาภายใต้แนวคิด ซูม ซูม ตั้งแต่มาสด้าเซนคุ ที่เปิดตัวในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ปี 2548 ซึ่งคว้ารางวัล Grand Prix du Plus Beau Concept Car ในมหกรรมยานยนต์นานาชาติครั้งที่ 21 ที่ปารีส จนถึงรถสปอร์ตมาสด้าคาบุระ ซึ่งได้รางวัลด้านความสวยงามและนวัตกรรมยอดเยี่ยมจากดีทรอยต์มอเตอร์โชว์ในปี 2549
ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง ควบคู่กับความล้ำหน้าด้านการออกแบบ พร้อมเพิ่มเติมรายละเอียดความเป็นรถสปอร์ตและความสวยงามมากขึ้น โจทย์ที่ผมให้กับทีมนักออกแบบคือการพัฒนารูปทรงใหม่ที่กระตุ้นให้รู้สึกได้ถึงความเคลื่อนไหวแม้ขณะที่รถจอดนิ่งอยู่กับที่ นี่จึงเป็นที่มาของ Flow Design อันมาจากคำว่า “นากาเร่” ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า “ความเคลื่อนไหว” หรือ “ลักษณะแห่งความเคลื่อนไหว” เราใช้ธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจ โดยมุ่งเน้นที่ภาพของความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากพลังของธรรมชาติอย่างลมและน้ำ เส้นสายของความเคลื่อนไหวในธรรมชาติล้วนอยู่รอบตัวเรา
รูปทรงแหว่งเว้าของเนินทรายที่เกิดจากแรงลม หรือคลื่นในมหาสมุทรที่มองจากเบื้องบน หรือลาวาที่ไหลลงจากปล่องภูเขาไฟที่เดือดปะทุ ทุกอย่างล้วนให้ความรู้สึกถึงความเคลื่อนไหว แต่การแปรเปลี่ยนสิ่งที่ได้จากการสังเกตความเคลื่อนไหวในธรรมชาติให้กลายเป็นแนวคิดที่นำมาใช้กับวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างรถยนต์นั้นทำให้เราค้นพบความตื่นเต้นเร้าใจและความคิดสร้างสรรค์ที่แนวคิดในการออกแบบสื่อออกมา ซึ่งนี่เองที่ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์ดีไซน์ใหม่ ๆ อันมีเอกลักษณ์โดดเด่นและแตกต่างได้อย่างต่อเนื่อง
รถยนต์ต้นแบบรุ่นแรกที่ใช้แนวคิดใหม่นี้คือ มาสด้านากาเร่ ซึ่งหัวหน้าทีมออกแบบในสหรัฐอเมริกา ฟรานส์ วอน โฮลซ์ฮาวเซ่น ให้ความเห็นว่าเป็นผลสะท้อนถึงแนวคิด Flow Design ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
หลังจากนั้น มาสด้า เรียวกะ ที่ออกแบบโดยศูนย์การออกแบบของมาสด้าที่ฮิโรชิม่าก็ออกตามมาติดๆ ด้วยรูปลักษณ์ที่สะท้อนความงามของความเคลื่อนไหวทั้งที่เกิดตามธรรมชาติและเกิดจากการควบคุมโดยมนุษย์ ซึ่งหัวหน้าทีมออกแบบ ยาซูชิ นากามูตะ อธิบายว่า “ความท้าทายคือ การรวมเอาดีไซน์ที่ละเมียดละไม และงามสง่าซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดในด้านความงามแบบลึกลับและภูมิปัญญาของญี่ปุ่นไว้ในรูปทรงที่ไดนามิก”
ตัวอย่างที่ชัดเจนของแนวการออกแบบดังกล่าวเห็นได้ที่บริเวณด้านข้างตัวรถ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเส้นสายที่เรียบง่ายแต่แฝงความงามละเมียดของก้อนกรวดที่จัดเรียงอย่างตั้งใจในสวนหินคาเระซันซุย
ศูนย์การออกแบบมาสด้าที่ยุโรปได้นำเสนอแนวคิดการออกแบบของมาสด้าฮากาเซ ซึ่งไม่เพียงชี้ให้ถึงเห็นความเป็นไปได้
ในการพัฒนารถยนต์ครอสโอเวอร์ขนาดเล็กของมาสด้าในอนาคต แต่ยังเป็นแนวคิดที่นำมาใช้จริงได้ หัวหน้าทีมออกแบบ ปีเตอร์ เบิร์ตวิเซิล ได้พยายามสื่อให้เห็นถึงพลังของสายลมที่พัดวนเวียนอยู่ในเนินทราย ทั้งบนพื้นผิวด้านข้างของตัวรถ และการตกแต่งภายใน การใช้ลวดลายที่มีลักษณะคล้ายเนินทรายในบริเวณต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกของรถสะท้อนให้เห็นถึงการไหลเวียนและความเคลื่อนไหวได้อย่างชัดเจน
ผู้เข้าชมงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ในปี 2550 ได้รับความเพลิดเพลินใจจากการชม มาสด้า ไทกิ ซึ่งเป็นรถต้นแบบรุ่นที่ 4 ในซีรี่นี้ รถรุ่นนี้สร้างสรรค์โดยศูนย์การออกแบบของมาสด้าที่โยโกฮาม่า โดยมี ยามาดะ อัตซูฮิโกะ เป็นหัวหน้าทีม มาสด้า ไทกิ สะท้อนให้เห็นทิศทางของการออกแบบและเทคโนโลยีที่รองรับแนวคิด “ซูม ซูม อย่างยั่งยืน” ในอนาคตของมาสด้า ผู้ชมสามารถสัมผัสถึงความล้ำยุคแห่งโลกอนาคตเพียงแรกเห็น ความเป็นนวัตกรรมไม่ได้ปรากฏเพียงที่การออกแบบรูปลักษณ์ แต่ยังรวมไปถึงความสวยงามที่แฝงประโยชน์ใช้สอยที่เหนือกว่าเดิม และประสิทธิภาพในด้านแอโรไดนามิกที่โดดเด่น ความเพลิดเพลินในการขับขี่ภายในห้องโดยสารที่เป็นเสมือนงานศิลปะนั้นเป็นการสร้างสมดุลระหว่างประสบการณ์แบบในการขับขี่แบบ ซูม ซูม และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม มาสด้า ไทกิ คือรูปลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบของรถสปอร์ตในอนาคตของมาสด้า
หลังจากการเปิดตัวมาสด้า นากาเร่ ในงานลอสแองเจอลีสออโต้โชว์ การเปลี่ยนจากซีกโลกตะวันตกมาสู่ซีกโลกตะวันออกในการเผยโฉมมาสด้า ไทกิ ที่โตเกียว พร้อม ๆ ไปกับการมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบ คือการเดินทางค้นหาแนวทางในการออกแบบของมาสด้า แม้กระนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราได้เดินทางมาถึงเป้าหมายแล้ว แต่ในทางตรงกันข้าม นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นครั้งใหม่ของวิวัฒนาการทางการออกแบบที่ไม่หยุดยั้งของมาสด้า
ลอเรนส์ แวน เดน แอคเกอร์
ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายออกแบบ
แนวคิดของมาสด้า ไทกิ
มุ่งสร้างสรรค์สังคมที่ยั่งยืน
มาสด้า ไทกิ สะท้อนให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนอันหนึ่งของรถสปอร์ตมาสด้าในอนาคตซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเสริมสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยเป็นรถยนต์รุ่นที่ 4 ในดีไซน์ซีรี่ของนากาเร่ซึ่งนำธีมเกี่ยวกับ “ความเคลื่อนไหว” มาขยายผลเพื่อสร้างรูปลักษณ์ใหม่ที่ชวนตื่นตาและเกิดความแตกต่างไปจากรุ่นเดิม ๆ อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับสะท้อนให้เห็นภาพของชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกไว้ ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า “ไทกิ” ในภาษาญี่ปุ่น ที่มาของชื่อนั่นเอง ระบบขับเคลื่อนอาศัยขุมพลังจากเครื่องยนต์โรตารี่อันขึ้นชื่อของมาสด้าที่มาพร้อมเทคโนโลยี RENESIS อันล้ำสมัยจากมาสด้า ซึ่งสร้างมาตรฐานใหม่ทั้งในด้านประสิทธิภาพการขับขี่และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยวางเครื่องยนต์ด้านหน้าและขับเคลื่อนล้อหลัง ที่นั่งโดยสารสองที่จัดวางในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมรายละเอียดอื่น ๆ ที่สร้างความรู้สึกโปร่งเบายิ่งขึ้นให้กับตัวรถ ผลลัพธ์จากธีมในการดีไซน์ยังช่วยเสริมสร้างความคล่องตัวตามหลักอากาศพลศาสตร์อย่างเหนือชั้น
แนวคิดการออกแบบจาก “ความเคลื่อนไหวของอากาศ”
นี่คือวิวัฒนาการของดีไซน์แบบนากาเร่ ด้วยรูปทรงของยานยนต์ที่ขับเคลื่อนไปอย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งแวดล้อม การสร้างสรรค์ยานยนต์สปอร์ตระดับตำนานของมาสด้าด้วยเทคโนโลยี RENESIS อันล้ำสมัย ในการผสานแนวคิดเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์ดีไซน์ที่คู่ควรกับความเป็นยานยนต์ในตระกูลนากาเร่ หัวหน้าทีมออกแบบ อัตซูฮิโกะ ยามาดะ ได้นำเสนอวัตถุประสงค์ในการออกแบบเพียงสั้นๆ ว่า “ดีไซน์ที่สะท้อนให้เห็นภาพความเคลื่อนไหวของอากาศ”
“รถยนต์ต้นแบบในซีรี่นากาเระ 3 รุ่นก่อนหน้านี้ต่างก็อาศัยแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เช่น ความเคลื่อนไหวของสายน้ำ หรือลวดลายพื้นผิวของเนินทรายที่เกิดจากกระแสลม ในทางตรงกันข้าม เราต้องการรถยนต์ต้นแบบสำหรับงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ที่สื่อให้เห็นถึงความงามและพลังของธรรมชาติ ควบคู่กับการเน้นให้เห็นความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของสิ่งแวดล้อม เราจึงใช้แนวคิดของอากาศที่ห่อหุ้มโลก และดีไซน์แบบนากาเร่เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งเหล่านี้ ซึ่งโดยปกติเป็นสิ่งที่เราคงไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยสายตา” หัวหน้าทีมออกแบบ อัตซูฮิโกะ ยามาดะกล่าวสรุป
และจากความหมายที่สื่อได้จากชื่อของรถรุ่นนี้ ดีไซน์อันล้ำยุคของมาสด้า ไทกิ ยังเกิดจากความมุ่งมั่นของมาสด้าในการผลิตรถยนต์ที่มีส่วนช่วยสร้างสรรค์สังคมที่ยั่งยืน
รูปลักษณ์ภายนอกแบบฮาโกโรโมะ เสื้อคลุมที่โบกสะบัดตามสายลม
โจทย์ท้าทายในการสร้างสรรค์ “ดีไซน์ที่สื่อถึงความเคลื่อนไหวของอากาศ” ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพของ ฮาโกโรโมะ เสื้อคลุมที่ช่วยให้เด็กสาวผู้สวมใส่บินลอยบนท้องฟ้าได้ในนิทานญี่ปุ่น นอกจากการสเก็ตช์ภาพต่างๆ ขึ้นมามากมายเพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมที่สุด ทีมนักออกแบบยังได้ลองใช้เทคนิคแปลกใหม่ เช่น นำเสื้อคลุมไปจุ่มในปูนปลาสเตอร์แล้วนำไปตากในที่มีลมโกรกเพื่อสังเกตความเคลื่อนไหวของอากาศที่ไหลผ่านเสื้อคลุมที่อยู่ในสภาพแข็งตัว ทำให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมในการออกแบบเป็นรูปลักษณ์ที่พลิ้วไหวและเส้นสายของความเคลื่อนไหวที่จับใจและสร้างจิตนาการให้แก่ผู้พบเห็น
สัดส่วนพื้นฐานของรถเริ่มจากรูปทรงของรถคูเป้ที่ขยายความยาวให้มากขึ้น โดยวางเครื่องยนต์ด้านหน้า ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง โอเวอร์แฮงสั้น พร้อมบอดี้กระจกใสรอบคันให้ความรู้สึกโปร่งเบา ซึ่งผสานกันเพื่อสื่อให้เห็นถึงความกลมกลืนของความสง่างามและความเป็นรถสปอร์ต จินตนาการถึงภาพของชายเสื้อคลุมฮาโกโรโมะหลายๆ ชั้นที่โบกสะบัดจากบังโคลนหน้าไปตามแนวด้านข้างตัวรถ ผืนผ้าที่ห่อหุ้มภายใต้ตัวรถและพลิกเปิดออกอย่างสวยงามที่บริเวณท้ายรถ ความรู้สึกพลิ้วไหวของฮาโกโรโมะยังเห็นได้จากกระโปรงหน้า เส้นกรอบจากหน้ารถถึงประตูหน้า พาดผ่านไปจนถึงบังโคลนท้ายดีไซน์แปลกตา เป็นเส้นโค้งที่สวยสะดุดตาไปจนจรดกระโปรงท้ายรถ เส้นสายที่พลิ้วไหวทั้งช่วงบนและช่วงล่างไม่เพียงแต่สื่อถึงภาพความเคลื่อนไหวของอากาศ แต่ยังช่วยลดปริมาตรของตัวรถ ทำให้รถมีรูปทรงที่ปราดเปรียว พร้อมกับสร้างความรู้สึกเหมือนล่องลอยไปในอากาศ สีเงิน Ozonic Silver ที่ผลิตขึ้นเพื่อรถรุ่นนี้โดยเฉพาะยังช่วยเติมความพลิ้วไหวให้เด่นชัดยิ่งขึ้น แผงประตูหน้าที่เปิดกว้างออกสู่ด้านหน้ารถเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของกระแสลมที่เร่งกำลังขึ้นซึ่งผู้ออกแบบได้สัมผัสจากการทดสอบในอุโมงค์ลม
ประสิทธิภาพด้านแอโรไดนามิกอันโดดเด่นด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านลม 0.25 และแรงยกเป็นศูนย์
ทีมนักออกแบบพยายามสร้างรถให้มีประสิทธิภาพด้านแอโรไดนามิกสูงโดยผสานการออกแบบและการใช้เทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เมื่อมองจากมุมสูง ความกว้างของมาสด้าไทกิถูกลดทอนลงจากหน้ารถจรดท้ายรถ เมื่อมองจากด้านข้าง จะเห็นเส้นสายที่กลมกลืนข้างใต้รถที่พาดขึ้นบริเวณท้ายรถอย่างสวยงาม ด้วยความปรารถนาที่จะสื่อให้เห็นภาพความเคลื่อนไหวของอากาศ มีการทดสอบอุโมงค์ลมเพื่อพิสูจน์ความเป็นเลิศของคุณสมบัติด้านแอโรไดนามิกที่ได้จากการออกแบบ รูปทรงที่สะดุดตารอบ ๆ ล้อหลัง ซึ่งเหนี่ยวนำให้อากาศสามารถเคลื่อนจากบังโคลนหน้าสู่ท้ายรถผ่าน “อุโมงค์” ที่อยู่ระหว่างตัวถังรถและบังโคลนท้ายรถ ยังเป็นการสร้างแรงกดอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ศักยภาพด้านแอโรไดนามิกที่สูงอยู่แล้วจากรูปทรงดั้งเดิมยังได้รับการปรับแต่งให้ดียิ่งขึ้น ผลที่ได้ก็คือค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านลมเพียง 0.25 และแรงยกเป็นศูนย์
รายละเอียดที่สะท้อนภาพความเคลื่อนไหวของอากาศ
แสงสว่างแห่งความเคลื่อนไหว
บริเวณขอบของซี่กระจังหน้ามีการติดตั้งแนวแผงไฟ LED ขนาดเล็กเข้าไป ไฟท้ายและไฟเลี้ยวข้างประตูใช้เทคโนโลยีพิเศษของมาสด้าซึ่งดูเผิน ๆ เหมือนมีแสงในตัว แต่แสงไฟจะปรากฏขึ้นให้เห็นได้อย่างชัดเจนขณะใช้งาน คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้รถคันนี้ดูเหมือนอากาศที่เคลื่อนไปข้างหน้ากำลังกลายสภาพเป็นเส้นแสงที่เห็นได้อย่างชัดเจนด้วยสายตา
การออกแบบลวดลายดอกยางและล้อ
ด้วยความร่วมมือกับนักออกแบบและวิศวกรด้านยางรถยนต์ ทำให้ได้ยางขนาด 22 นิ้วของมาสด้า ไทกิ ซึ่งเป็นขนาดที่มีสมบัติเชิงพลวัตสูง ลวดลายสะดุดตาที่ดูเหมือนเส้นสายที่ไหลเวียนไปมา ดีไซน์ของใบล้อกังหันได้แรงบันดาลใจจากใบพัดพัดลมเทอร์โบของเครื่องยนต์เจ็ต
ซึ่งพัฒนาขึ้นจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับวิศวกรด้านล้อรถยนต์เพื่อสร้างสรรค์ดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ (ด้วยความร่วมมือกับ The Yokohama Rubber Co., Ltd. และ Enkei Corporation)
การออกแบบภายในแบบโคอิโนโบริ
ด้วยแรงบันดาลใจจาก โคอิโนโบริ หรือธงรูปปลาคาร์ฟที่กำลังว่ายทวนน้ำที่โบกสะบัดบนท้องฟ้าของญี่ปุ่นในช่วงเดือนพฤษภาคม แนวคิดแบบท่ออากาศ (air-tube) จึงถูกใช้เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบภายใน รายละเอียดทุกอย่างตั้งแต่แผงหน้าปัด ที่นั่ง ไปจนถึงแผงประตูต่างให้ความรู้สึกที่เคลื่อนไหวได้ราวกับเส้นสายของลมที่กำลังพัดผ่านไปมา
ขณะเดียวกัน ทีมออกแบบยังได้สร้างบรรยากาศภายในห้องโดยสารที่แตกต่างกันสองแบบด้วยสีสันและวัสดุที่ใช้ตกแต่ง โดยแบ่งครึ่งหนึ่งเป็นสีขาว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นสีดำ เส้นสายของดีไซน์ที่เด่นชัดยังสื่อถึงความกระฉับกระเฉงหากแฝงความนุ่มนวลอยู่ในที
ห้องโดยสารด้านคนขับ โดดเด่นด้วยเส้นสายคดโค้งตั้งแต่แผงหน้าปัดไปจนจรดเบาะที่นั่ง พนักพิงและพนักรองศีรษะที่แยกเป็นอิสระจากกันสื่อถึงความรู้สึกเคลื่อนไหวของสายลมอ่อน ๆที่พัดผ่านไปมา เส้นขอบสีดำช่วยเสริมสร้างบรรยากาศให้คนขับมีสมาธิในการขับขี่ได้ดียิ่งขึ้น
ด้านที่นั่งฝั่งผู้โดยสารให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย ด้วยเก้าอี้นั่งแบบเลานจ์แชร์ พร้อมพื้นที่วางขากว้างเป็นพิเศษ แต่งด้วยโทนสีขาวเพื่อให้บรรยากาศที่กว้างขวาง เหมาะสำหรับเป็นที่นั่งสำหรับผู้โดยสารอย่างแท้จริง
แนวคิดในการออกแบบยังต้องการมุ่งสร้างรูปใหม่สำหรับห้องโดยสารรถสปอร์ต ชั้นวางของที่คั่นกลางระหว่างที่นั่งคนขับและผู้โดยสารยังสามารถปรับใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายด้วย
รายละเอียดภายในที่เน้นให้เห็นถึงความเคลื่อนไหว
การออกแบบห้องโดยสารพยายามหลีกเลี่ยงการใช้รูปทรงสมมาตรและไม่ยึดติดกับหลักการออกแบบใด ๆ แต่ละส่วนล้วนสื่อถึงสายลมที่เคลื่อนไหว สร้างความรู้สึกโปร่งเบา และให้บรรยากาศที่มีชีวิตชีวา ราวกับอยู่ในความฝัน
ความงามของโครงสร้างที่ให้อารมณ์ความรู้สึก
หลังคาโปร่งใสรูปหยดน้ำเหนือห้องโดยสารรับน้ำหนักด้วยโครงเสาเส้นสายโค้งมนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างตัวถังรถ แนวการออกแบบนี้ยังนำไปใช้กับแกนพวงมาลัยและโครงที่นั่งของคนขับ และเพื่อให้เห็นถึงเส้นสายที่สวยงามของโครงที่นั่งคนขับ เบาะนั่งและพนักพิงจึงทำด้วยพลาสติกซิลิโคนอีลาสติกโปร่งใส
ศิลปะการเขียนตัวอักษรแบบเซน
บนเบาะหนังแท้สีดำและขาวภายในตัวรถประดับด้วยลายพิมพ์เส้นสายที่อ่อนช้อยของตัวอักษรเขียนมือซึ่งใช้สีประกายเมทัลลิก เทคนิคใหม่นี้พัฒนาโดยอาศัยความร่วมมือกับนักออกแบบลายผ้า ช่วยให้ศิลปินสามารถสร้างสรรค์ลายเส้นที่สื่อถึงความเคลื่อนไหวของสายลมผ่านฝีแปรงได้ ลายเส้นต่าง ๆ ที่พาดผ่านหน้าปัดรถและที่นั่งช่วยขับเน้นความรู้สึกของความเคลื่อนไหวได้อย่างชัดเจน พื้นผิวของวัสดุยังผ่านการเคลือบโดยใช้ขั้นตอนพิเศษที่พัฒนาขึ้นสำหรับมาสด้าโดยเฉพาะ (ด้วยความร่วมมือกับ NUNO Corporation)
มาตรอัตรารอบที่แสดงจังหวะของเครื่องยนต์โรตารี่
ที่บริเวณขอบของหน้าปัด รอบพวงมาลัย ตลอดจนรอบที่นั่งคนขับ จะมีแถบไฟ LED ซึ่งทำหน้าที่เป็นมาตรอัตรารอบ ซึ่งเส้นไฟสีแดงที่วิ่งขึ้นจากด้านข้างที่นั่งคนขับสู่ด้านหน้าตัวรถนี้จะแสดงสถานะของรอบเครื่องยนต์ นับเป็นการตอบสนองทางสายตาซึ่งสะท้อนถึงอารมณ์ในการขับขี่ได้อย่างดี
เทคโนโลยี human-machine interface (HMI) อันล้ำยุค
เพื่อประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยที่ก้าวล้ำไปอีกขั้น มาสด้าได้มุ่งพัฒนาเทคโนโลยี HMI ซึ่งจะช่วยให้คนขับและเครื่องยนต์สามารถสื่อสารกันได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยแบบ active ที่ล้ำสมัยต่าง ๆ โดยสวิตช์ควบคุมระบบต่างๆ เหล่านี้จะติดตั้งอยู่ที่พวงมาลัยเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ขับขี่ในการควบคุมทุกอย่างโดยไม่ต้องละมือจากพวงมาลัย นอกจากนั้น จอแสดงผลข้อมูลต่าง ๆ ก็ปรากฏอยู่ที่บริเวณพวงมาลัยเช่นกัน
ข้อมูลทางเทคนิคของมาสด้าไทกิ
ขนาดตัวรถ ความยาวรวม 4620 มม.
ความกว้างรวม 1950 มม.
ความสูงรวม 1240 มม.
ฐานล้อ 3000 มม.
ความจุผู้โดยสาร 2 ที่นั่ง
เครื่องยนต์ ประเภท RENESIS เจเนอเรชั่นใหม่
ระบบเกียร์ ประเภท dry twin clutch 7-speed
ช่วงล่าง (หน้า/ท้าย) ประเภท double wishbone
ยาง ประเภท 195/40 R22 YOKOHAMA ADVAN Super-E spec PROTOTYPE 007
สกาย-จี” และ “สกาย-ดี
มาสด้าเปิดตัว “สกาย-จี” และ “สกาย-ดี” เครื่องยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมอันทรงพลังครั้งแรกของโลกที่โตเกียวมอเตอร์โชว์ 2009
– พร้อมมาสด้า กิโยระ ยานยนต์ต้นแบบที่มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพียง 32 กิโลเมตรต่อลิตร เผยโฉมครั้งแรกในญี่ปุ่น
ฮิโรชิมา, ญี่ปุ่น – 1 ตุลาคม 2552 – มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น เตรียมเผยโฉมเครื่องยนต์และระบบเกียร์อัตโนมัติเจเนอเรชั่นใหม่ครั้งแรกของโลก ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 41 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 24 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2552 โดยจะนำเครื่องยนต์เบนซินไดเร็คอินเจ็คชั่น “มาสด้า สกาย-จี (Mazda SKY-G) ” และเครื่องยนต์ดีเซลพลังสะอาด “มาสด้า สกาย-ดี (Mazda SKY-D)” และระบบเกียร์อัตโนมัติประสิทธิภาพสูง “มาสด้า สกายไดรฟ์ (Mazda SKY Drive)” ออกจัดแสดง พร้อมเปิดตัวยานยนต์ต้นแบบ “กิโยระ (Kiyora)” อันสะท้อนให้เห็นถึงเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอันล้ำสมัยของมาสด้า (Mazda’s next-generation environmental and safety technologies) ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้า มากูฮาริ เมสเซ่ เมืองชิบะ
แนวคิดของมาสด้าในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ 2009 คือ “มาสด้า สกาย (Mazda SKY) – ความสนุกสนานในการขับขี่ ความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับทุกคนภายใต้หัวข้อ “วันนี้” “พรุ่งนี้” และ “อนาคต” โดยมาสด้าจะจัดแสดงเทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อให้ยานยนต์มาสด้าที่จำหน่ายทั่วโลก มีอัตราการประหยัดเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยที่ดีขึ้นถึง 30% ภายในปี 2558 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักอันหนึ่งของวิสัยทัศน์อันยาวไกลในการพัฒนาเทคโนโลยีภายใต้แนวคิด “ซูม-ซูม อย่างยั่งยืน” หรือ Sustainable Zoom-Zoom
มาสด้ามีความมุ่งมั่นในการปรับปรุงองค์ประกอบหลักของยานยนต์มาสด้าซึ่งส่งผลต่อสมรรถนะการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องยนต์ ระบบเกียร์ การลดน้ำหนักส่วนเกินของรถยนต์ เพื่อความสนุกสนานเร้าใจในการขับขี่ที่เหนือชั้นกว่าเดิม ควบคู่กับความปลอดภัยและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิด “มาสด้า สกาย” ชี้ให้เห็นแนวทางของมาสด้าในการพัฒนาระบบส่งกำลังอันล้ำสมัย ซึ่งส่งผลให้ยานยนต์มาสด้ามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสมรรถนะในการขับขี่ที่เหนือกว่าเดิมอย่างชัดเจน แนวคิดสกาย นับเป็นความปรารถนาของมาสด้าในการมอบความสนุกสนานในการขับขี่ให้กับเจ้าของยานยนต์มาสด้าทุกคันเสมือนกับอยู่ภายใต้ “ท้องฟ้าที่สดใสตลอดกาล” แนวคิดดังกล่าวยังสะท้อนถึงแรงบันดาลใจแบบ “ไร้ขีดจำกัด” ของทีมวิศวกรมาสด้าในการใช้ความคิดที่แปลกใหม่นอกกรอบเพื่อสรรสร้างสมรรถนะในการขับขี่ที่ดีที่สุดให้กับรถยนต์สายพันธุ์สปอร์ตของมาสด้าทุกคัน
ภายใต้แนวคิดสกาย “เทคโนโลยีเพื่อวันพรุ่งนี้” ของมาสด้าซึ่งจัดแสดงในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ประกอบด้วยเครื่องยนต์เจเนอเรชั่นใหม่ของมาสด้า คือเครื่องเบนซินไดเร็คอินเจ็คชั่น “มาสด้า สกาย-จี” และเครื่องดีเซลพลังสะอาด “มาสด้า สกาย-ดี” ซึ่งให้ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและแรงบิดที่เหนือกว่าเดิม ด้วยประสิทธิภาพการเผาไหม้ที่เหนือชั้นยิ่งขึ้น มาสด้ายังเตรียมเผยโฉมระบบเกียร์อัตโนมัติเจอเนอเรชั่นใหม่ มาสด้า สกายไดรฟ์ ซึ่งให้อัตราความประหยัดพลังงานที่เหนือชั้นพร้อมสมรรถนะในการขับขี่ที่ควบคุมได้ดั่งใจ
(ซ้าย) เครื่องยนต์เบนซินไดเร็คอินเจ็คชั่นแห่งอนาคต “มาสด้า สกาย-จี” ขนาด 2 ลิตร
(ขวา) เครื่องยนต์ดีเซลพลังสะอาดแห่งอนาคต “มาสด้า สกาย-ดี” ขนาด 2.2 ลิตร
มาสด้ากิโยระ ต้นแบบยานยนต์ขนาดกลางแห่งอนาคตซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยพลังแห่งความสนุกสนาน เร้าใจในการขับขี่แบบมาสด้า จะเผยโฉมเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นในงานนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยเทคโนโลยีระบบส่งกำลังภายใต้แนวคิดสกายอันล้ำยุคของมาสด้า และเทคนิคอันล้ำสมัยในการลดน้ำหนักส่วนเกิน ทำให้รถมีน้ำหนักน้อยลง กิโยระจึงให้อัตราการประหยัดเชื้อเพลิงที่ดีเยี่ยมในระดับ 32 กิโลเมตรต่อลิตร (ภายใต้การทดสอบตามโหมด 10-15 ของญี่ปุ่น)
มาสด้ากิโยระ ต้นแบบยานยนต์ขนาดกลาง
นอกเหนือจากแนวคิดสกายแล้ว มาสด้ายังเตรียมจัดแสดง “เทคโนโลยีของวันนี้” อันประกอบด้วย “ไอ-สต็อป (i-stop)” ระบบเดินเบาของเครื่องยนต์ที่เหนือชั้นซึ่งนำมาใช้ในมาสด้า แอ็กซ์เซล่า ใหม่ (หรือ มาสด้า3 ในตลาดนอกประเทศญี่ปุ่น) ในส่วนของ “เทคโนโลยีแห่งอนาคต” มีการจัดแสดงเครื่องยนต์มาสด้าพรีมาซี ไฮโดรเจน อาร์อี ไฮบริด อันล้ำสมัย เครื่องยนต์โรตารี่พลังไฮโดรเจน และเทคโนโลยียานยนต์อื่นๆ ซึ่งกำลังอยู่ภายใต้การพัฒนาอันเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของมาสด้าในการสร้างสรรค์สังคมแห่งยานยนต์ที่ปลอดภัย และไร้อุบัติเหตุ
งานโตเกียวมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 41 กำหนดวันสำหรับสื่อมวลชนในวันที่ 21 – 22 ตุลาคม และวันสำหรับแขกรับเชิญพิเศษในวันที่ 23 ตุลาคม และเปิดสำหรับบุคคลทั่วไปตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน โดยมาสด้าจัดงานแถลงข่าวในวันที่ 21 ตุลาคม เวลา 12:30 น.
ไฮไลต์ของมาสด้า
มาสด้าขึ้นแท่นผู้นำเทคโนโลยีจัดงานเทคโนโลยีฟอรัมเจ้าแรกในประเทศไทย เปิดตัวนวัตกรรมเทคโนโลยีอนาคต”สกายแอคทีฟ”
SKYACTIV-G เครื่องยนต์เบนซิน มีอัตราส่วนการอัดอากาศสูงที่สุดในโลกที่ 14:1 ประสิทธิภาพสูงแบบไดเรค อินเจ็คชั่น
SKYACTIV-D เครื่องยนต์ดีเซล มีอัตราส่วนการอัดอากาศต่ำที่สุดในโลก 14:1 เผาไหม้สะอาดให้ประสิทธิภาพสูง
SKYACTIV-Drive ระบบส่งกำลังเกียร์อัตโนมัติเจเนอเรชั่นใหม่ล่าสุดและระบบส่งกำลังเกียร์ธรรมดา ให้การเปลี่ยนเกียร์ที่นุ่มนวล ด้วยขนาดที่กะทัดรัด และมีน้ำหนักเบาพิเศษ
SKYACTIV-Body โครงสร้างตัวถังเจเนอเรชั่นใหม่ น้ำหนักเบาและแข็งแกร่ง พร้อมมาตรฐานความปลอดภัยสูงระดับโลก
SKYACTIV-Chassis โครงสร้างแชสซีส์เจเนอเรชั่นใหม่ น้ำหนักเบาแต่ให้สมดุลที่สมบูรณ์แบบ ทั้งการควบคุมและการขับขี่ที่สะดวกสบายปลอดภัย
กรุงเทพฯ – ประเทศไทย – 14 พฤษภาคม 2556, บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมมือกับ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จัดงานเปิดตัวแนะนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่กำลังจะถูกนำมาผลิตเป็นรถยนต์คันจริงเข้าสู่ตลาดประเทศไทยในเร็วๆ นี้ ภายใต้ชื่อว่า “เทคโนโลยี สกายแอคทีฟ” SKYACTIV TECHNOLOGY ที่มาสด้ามุ่งมั่นทุ่มเทพัฒนาจนประสบความสำเร็จ จนวันนี้ได้เป็นเทคโนโลยีอันล้ำสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด จนได้รับการยอมรับมาแล้วทั่วโลก ซึ่งถือเป็นความก้าวล้ำทางด้านเทคโนโลยีและความท้าทายใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ผนวกด้วย 4 หัวใจหลักของรถยนต์ ประกอบด้วยเครื่องยนต์ทั้งเบนซิน เครื่องยนต์ดีเซล ระบบส่งกำลังเกียร์ออโตเมติกและเกียร์ธรรมดา โครงสร้างตัวถัง และแชสซีส์ ที่พร้อมส่งมอบการขับขี่แบบ ซูม-ซูม สไตล์สปอร์ตของมาสด้า ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและให้ความปลอดภัยสูงสุด โดยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดทั้งหมดนี้จะอยู่ในรถในอนาคตของมาสด้าทุกรุ่น
หลังจากเผยนวัตกรรมด้านการออกแบบเจเนอเรชั่นแห่งอนาคต ด้วยการจัดงาน “MAZDA DESIGN FORUM 2012” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา นั่นคือจุดเริ่มต้นของการสร้างมิติใหม่ของมาสด้า ประเทศไทย เพราะเป็นครั้งแรกของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลเบื้องลึกของการออกแบบและการพัฒนารถยนต์ ซึ่งไม่เคยถูกเปิดเผยที่ไหนมาก่อน ได้จุดประกายให้บุคลากรในอุตสาหกรรมรถยนต์เกิดการตื่นตัวและเข้าใจมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับปรัชญาในการออกแบบรถยนต์มาสด้า ภายใต้แนวคิด “โคโดะ ดีไซน์” จิตวิญญาณแห่งการเคลื่อนไหว (KODO – Soul of Motion) ซึ่งถ่ายทอดเส้นสายการออกแบบล่าสุดผ่านยนตรกรรมรถต้นแบบคันแรก “มาสด้า ชินาริ (Mazda SHINARI)” ด้วย โคโดะ ดีไซน์ ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และกำลังจะถูกถ่ายทอดเอกลักษณ์เฉพาะตัวไปสู่รถเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ที่กำลังจะเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์มาสด้าในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
มาในครั้งนี้มาสด้าเดินหน้าต่อยอดทันทีด้วยการเปิดเผยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของมาสด้าเพื่ออนาคต ด้วยการจัดงาน “The Next Generation Technology Forum 2013” โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากบริษัทแม่ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น โดยให้วิศวกรชาวญี่ปุ่นหลายคน มาถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มาสด้าได้คิดค้นจนประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับมาแล้วทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมทุกชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นรถยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ที่กำลังจะนำมาใส่ในรถรุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยีล่าสุดนี้ คือ “สกายแอคทีฟ-จี” SKYACTIV-G ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เบนซินที่มีประสิทธิภาพสูงแบบไดเรค อินเจ็คชั่น ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นของเครื่องยนต์เบนซินที่มีอัตราส่วนการอัดอากาศสูงสุดในโลก และเป็นอัตราส่วนกำลังอัดที่ไม่เคยมีมาก่อนสูงถึง 14:1 ส่งผลให้เครื่องยนต์ “สกายแอคทีฟ-จี” SKYACTIV-G เป็นเครื่องยนต์ที่มีระบบการเผาไหม้ที่สมบูรณ์แบบและทรงพลัง แต่มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันต่ำ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาช่วยแต่อย่างใด
มร. ฮิโรตากะ คานาซาวา ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “สกายแอคทีฟ เทคโนโลยี” SKYACTIV Technology เป็นชื่อเรียกขานของนวัตกรรมเทคโนโลยียนตรกรรมใหม่ล่าสุดซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับเราชาวมาสด้า ทั้งหมดนี้ได้ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นจากวิสัยทัศน์ของพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นแผนงานระยะยาวเพื่อสร้างความยั่งยืนของมาสด้า หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ซูม-ซูม แบบยั่งยืน” หรือ “Sustainable Zoom-Zoom” ซึ่งนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่นี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อสะท้อนถึงความตั้งใจจริงและความปรารถนาอย่างแรงกล้าของมาสด้าในความมุ่งมั่นที่จะมอบประสบการณ์ด้านการขับขี่ ไปพร้อมๆ กับความห่วงใยที่มีต่อสิ่งแวดล้อมของมนุษยชาติ รวมถึงระบบความปลอดภัยสูงสุดสำหรับยนตรกรรมที่กำลังจะถูกพัฒนาขึ้นต่อจากนี้
“เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เรามองเห็นการเติบโตของรถยนต์ไฮบริด และรถพลังงานไฟฟ้า โดยเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายใน จะเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่ผู้ใช้รถจำนวนมากยังคงใช้อยู่อย่างต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีก 10 ปี อันที่จริง ซึ่งเทคโนโลยีนี้ ยังคงสามารถพัฒนาประสิทธิภาพของพลังงานที่ได้รับจากเครื่องยนต์ในปัจจุบันให้ดีขึ้นกว่านี้ เพราะปัจจุบันพลังงานถูกนำมาใช้ได้เพียงแค่ 30% เท่านั้น มาสด้าจึงมุ่งมั่นในการคิดทบทวนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีนี้อีกครั้ง โดยเริ่มคิดจากศูนย์ เพื่อให้ได้การเผาไหม้เชิงอุดมคติ ด้วยทุกวิธีทางที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ และหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ก็คือ “สกายแอคทีฟ-จี” SKYACTIV-G
เทคโนโลยี สกายแอคทีฟ ให้ความประหยัดน้ำมันได้ในระดับสูงสุด ด้วยราคาที่เหมาะสม และยังคงให้ความรู้สึกสนุกสนานเร้าใจในการขับขี่อยู่เช่นเดิม ขณะนี้ โครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมยังไม่ได้มีความจำเป็น เราจึงมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า แนวทางที่เราคิดค้นเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพ และสามารถเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว” มร. คานาซาวา กล่าวเพิ่มเติม
นายโชอิชิ ยูกิ กรรมการผู้จัดการ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย รวมถึงระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการให้การตอบรับเป็นอย่างดียิ่งต่อแบรนด์มาสด้า นอกจากเราจะมุ่งมั่นทุมเทในการพัฒนาสร้างสรรค์ยนตรกรรมที่เปี่ยมด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วมาสด้าได้ลงทุนสร้างโรงงานการผลิตรถยนต์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่จังหวัดระยอง มูลค่าเกือบ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีกำลังการผลิตรถยนต์สูงถึง 290,000 คันต่อปี เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย และมีประชากรอีก 140 ประเทศทั่วโลกที่กำลังขับรถยนต์มาสด้าที่ถูกผลิตขึ้นด้วยฝีมือของคนไทย โดยล่าสุดมาสด้าได้เพิ่มเงินลงทุนอีกกว่า 26,000 ล้านเยน เพื่อผลิตชุดเกียร์อัตโนมัติแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้เทคโนโลยีสกายแอคทีฟ ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 400,000 ลูกต่อปี เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกไปทั่วโลก พร้อมปณิธานอันแน่วแน่ที่จะร่วมแรงร่วมใจพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีศักยภาพให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ที่สำคัญของโลก
“การจัดงาน The Next Generation Technology Forum 2013 นี้ถือเป็นการประกาศความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของมาสด้าในตลาดรถยนต์ทั่วโลก ที่สำคัญสำหรับในประเทศไทย มาสด้าถือเป็นเจ้าแรกที่จัดงานฟอรัมประเภทนี้ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญอันดียิ่งที่ลูกค้ามาสด้ารวมถึงชาวไทยทุกคนจะได้เข้าใกล้เทคโนโลยีที่ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป มาสด้ากำลังจะนำเอารถยนต์ที่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ให้ประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ผู้ใช้รถสู่ตลาดประเทศไทย ซึ่งสกายแอคทีฟเทคโนโลยี ถือเป็นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดของโลกที่ไร้ขีดจำกัดใดๆ และกำลังจะเปิดตัวต่อสาธารณะชนในเร็วๆ นี้ ซึ่งคาดว่าจะประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างกว้างขวาง” นายโชอิชิ ยูกิ กล่าวเสริม
ด้วยเทคโนโลยีสกายแอคทีฟที่มาสด้าสร้างสรรค์ขึ้นมานี้ ส่งผลเป็นที่ประจักษ์ต่อคนทั้งโลกโดยได้รับการยอรับอย่างกว้างขวาง และสามารถคว้ารางวัลสำคัญๆ ด้านเทคโนโลยีมาแล้วมากมาย โดยเฉพาะรางวัลชนะเลิศ “The First Green Car Technology Award”จากวารสาร Green Car รวมทั้งรางวัล Japan Industry Technology Award จากหนังสือพิมพ์ Nikkan Kogyo Shimbun จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงรางวัล The Commendation for Science Technology 2013 โดยกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม การกีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เป็นรถยนต์ที่มีความประหยัดน้ำมันเทียบเท่ากับเครื่องยนต์ที่ใส่ระบบไฮบริด
รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรม “สกายแอคทีฟ เทคโนโลยี” SKYACTIV TECHNOLOGY
1. SKYACTIV-G (สกายแอคทีฟ-จี)
คือเครื่องยนต์เบนซินแบบไดเรค อินเจ็คชั่น ที่ให้ประสิทธิภาพสูง เจเนอเรชั่นใหม่ที่เป็นนวัตกรรมชิ้นเอกของวงการยานยนต์โลก นับว่าเป็นเครื่องยนต์ที่มีอัตราแรงอัดอากาศในการเผาไหม้สูงที่สุดของโลก คืออัตรา 14:1 โดยที่เครื่องยนต์ไม่เกิดอาการน๊อค
– เป็นเครื่องยนต์เบนซินที่ผลิตเพื่อจำหน่ายเครื่องแรกที่มีอัตราแรงอัดอากาศสูงที่สุดในโลก คือ 14:1
– เป็นเครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้และการจุดระเบิดที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันที่ประหยัดขึ้น และกำลังแรงบิดที่ดีขึ้นถึง 15%
– ยังคงสมรรถนะการขับขี่ประจำวันที่สมบูรณ์แบบ สนุกสนานเร้าใจ เพราะเพิ่มกำลังแรงบิดที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่รอบต่ำถึงปานกลาง
– ระบบไอเสียแบบ 4-2-1 การเพิ่มปริมาตรกระบอกสูบ ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงแบบ มัลติโฮล และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มอัตราส่วนการอัดอากาศในห้องเผาไหม้
2. SKYACTIV-D (สกายแอคทีฟ-ดี)
คือเครื่องยนต์ดีเซลที่เผาไหม้สะอาดเจเนอเรชั่นใหม่ล่าสุดที่สามารถผ่านข้อกำหนดมาตรฐานไอเสียโลกโดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเร่งปฏิกิริยาที่มีราคาสูงเพื่อลดไอเสีย – ระบบ Selective catalytic reduction SCR กำจัดไอเสีย และระบบ Lean NOx Trap (LNT) – เป็นผลงานล้ำค่าที่ได้มาจากเครื่องยนต์นี้ที่มีอัตราส่วนการอัดอากาศต่ำที่สุดในโลกที่ 14:1
– เนื่องจากอัตราส่วนการอัดอากาศที่ต่ำเพียง 14:1 จึงส่งผลให้อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันประหยัดขึ้นถึง 20%
– ระบบเทอร์โบชาร์จเจอร์แบบ 2 ขั้นตอนใหม่ ให้การตอบสนองที่ราบเรียบและแม่นยำในรอบความเร็วต่ำจนถึงสูง และยังเพิ่มแรงบิดให้สูงขึ้นทั้งในรอบเครื่องยนต์ต่ำถึงรอบสูง (ให้แรงบิดสูงสุดได้ที่ 5,200 รอบต่อนาที)
– ผ่านข้อกำหนดมาตรฐานไอเสียของโลก ได้แก่ Euro6 ในยุโรป, Tier2Bin5 ในอเมริกาเหนือ และข้อกำหนดของประเทศญี่ปุ่น โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเร่งปฏิกิริยาที่มีราคาสูงเพื่อลดมลภาวะของไอเสีย
3. SKYACTIV-Drive (สกายแอคทีฟ-ไดร์ฟ)
คือระบบส่งกำลังแบบเกียร์อัตโนมัติเจเนอเรชั่นใหม่ที่ส่งถ่ายแรงบิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– ผสมผสานข้อดีของระบบเกียร์อัตโนมัติทั้ง 3 แบบเข้าด้วยกัน ทั้งแบบดั้งเดิม (Conventional AT Transmission) แบบแปรผันที่ต่อเนื่อง (CVT) และแบบคลัชท์คู่ (Dual Clutch)
– ปรับปรุงประสิทธิภาพของการส่งถ่ายแรงบิดโดยออกแบบให้การขบกันของเกียร์มีช่วงที่กว้างขึ้น และยังให้ความรู้สึกเช่นเดียวกับที่ได้รับจากการขับขี่ด้วยเกียร์ธรรมดา
– ปรับปรุงอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันให้ประหยัดขึ้นถึง 4-7% เมื่อเทียบกับระบบเกียร์อัตโนมัติที่มีอยู่ในปัจจุบัน
4. SKYACTIV-MT (สกายแอคทีฟ-เอ็มที)
คือระบบเกียร์ธรรมดาเจเนอเรชั่นใหม่ที่มีน้ำหนักเบาและมีขนาดกะทัดรัด ที่มาพร้อมกับความรู้สึกที่นุ่มนวลแม่นยำ ในขณะที่เปลี่ยนเกียร์ เฉกเช่นเดียวกับความรู้สึกที่ได้รับจากการขับรถสปอร์ต ถูกออกแบบให้ประสานการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพเฉกเช่นเดียวกับรถยนต์ที่วางเครื่องยนต์ด้านหน้าและมีระบบขับเคลื่อนล้อหน้า
– ช่วงชักของเกียร์สั้นและนุ่มนวล
– ลดขนาดและน้ำหนักลงได้อย่างเหลือเชื่อ ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างตัวถังใหม่
– เนื่องจากขนาดที่กะทัดรัดและมีน้ำหนักเบา จึงทำให้การจัดวางเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
– ปรับปรุงอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน อันเป็นผลมาจากการลดแรงเสียดทานของกลไกภายใน
5. SKYACTIV-Body (สกายแอคทีฟ-บอดี้)
คือโครงสร้างตัวถังเจเนอเรชั่นใหม่ ที่ถูกพัฒนาเพื่อลดน้ำหนักที่ไม่จำเป็นลง เป็นโครงสร้างที่คงความแข็งแกร่ง เสถียร และให้ความปลอดภัยสูงสุดจากแรงปะทะรอบทิศทาง
– มีความแข็งแกร่ง และมีน้ำหนักเบา (น้ำหนักลดลง 8% ความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น 30%)
– เป็นโครงสร้างที่มีความปลอดภัยสูงสุด
– โครงสร้างรูปแบบใหม่ ที่ชิ้นส่วนโครงสร้างถูกออกแบบให้มีความตรงและยาวที่สุดในแต่ละชิ้น และแนวคิดของโครงสร้างต่อเนื่องหรือ Continuous Framework ที่ทุกชิ้นส่วนจะถูกเชื่อมต่อกันอย่างลงตัว
– โครงสร้างมีน้ำหนักเบาขึ้นด้วยเทคโนโลยีใหม่ของการเชื่อมชิ้นส่วน และเพิ่มการใช้เหล็กกล้าน้ำหนักเบา High Tensile Steel ทีมีคุณภาพสูง
6. SKYACTIV-Chassis (สกายแอคทีฟ-แชสซีส์)
คือแชสซีส์เจเนอเรชั่นใหม่ ที่ให้ประสิทธิภาพสูง มีน้ำหนักเบา แต่ให้สมดุลที่สมบูรณ์แบบของทั้งการควบคุมการขับขี่ที่สะดวกสบายและปลอดภัยสูงสุด
– ช่วงล่างแบบอิสระที่พัฒนาขึ้นจากระบบสตรัท (หน้า) และมัลติลิงค์ (หลัง) ที่ให้ความแข็งแกร่งสูงและมีน้ำหนักเบา (น้ำหนักเบาขึ้น 14% เมื่อเทียบกับแชสซีส์ปัจจุบัน)
– ให้ความนุ่มนวลที่การขับขี่ความเร็วปานกลาง และให้เสถียรภาพที่ความเร็วสูง เพิ่มคุณภาพของความรู้สึกในห้องโดยสารในทุกความเร็ว ผ่านการทำงานที่ประสานกันอย่างสมบูรณ์แบบของระบบช่วงล่างและระบบพวงมาลัย